ลูกชายคนเล็ก “สิน สิทธิสมาน” ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตของแม้ค้าออนไลน์ผ่านเพื่อนสนิท ทำให้เขาเรียนรู้ว่าอาชีพที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันและแห่แหนกันลงทุนขายของออนไลน์ ไม่ได้มีแต่สิ่งสวยหรู ด้านของความกดดันที่ต้องพบเจอลูกค้าสารพัดที่มีทั้งดีและไม่ดี ไม่ใช่เรื่องหมูๆ อย่างที่เขาคิดและถ่ายทอดผ่านบทความนี้
.........
ถ้าว่าด้วยเรื่องของยุคสมัยปัจจุบัน รูปแบบการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ล้วนพัฒนาไปข้างหน้าอย่างเร็วจี๋ การเข้ามาของ Smart Phone และ Social Media ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนร่วมสมัยเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง ส่งผลกระทบต่อความเคยชินดั้งเดิม หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง เริ่มย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่พ้นแม้แต่อาชีพการงาน !
หนึ่งในอาชีพที่มาแรงสุด ๆ ในยุคนี้คงไม่พ้นอาชีพของ “แม่ค้าออนไลน” ซึ่งก็มีอยู่หลายรูปแบบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ที่ไลฟ์สดตาม Social Media แม่ค้าออนไลน์ที่เสนอขายสินค้าสารพัดตาม Application หรือแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าในรูปแบบของ Pre-order โดยสินค้าที่ขายก็มีตั้งแต่ของกิน เสื้อผ้า เครื่องประดับ รวมไปถึงข้าวของที่ใช้ในบ้าน
วิธีการขายแต่ละรูปแบบก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงเทคนิคของแม่ค้าออนไลน์แต่ละคน บางคนก็เน้นลีลา บางคนเอาฮา บางคนใช้ลูกเล่นเฉพาะตัว ก็อยู่ที่ใครถนัดแบบไหน
เอาเป็นว่า ขึ้นอยู่กับตัวลูกค้าเลยว่าสะดวกช็อปปิ้ง “แบบไหน” และใน “แพลตฟอร์ม” อะไร
ดูผิวเผินเหมือนอาชีพ “แม่ค้าออนไลน์” จะดูสวยหรู ทำรายได้ดี เป็นที่ใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามา...
แต่เอาเข้าจริง เป็นอย่างนั้นหรือไม่...
ผมมีเพื่อนในวัยไล่เลี่ยกันที่หันมาสนใจค้าขายบนโลกออนไลน์จำนวนไม่น้อย แต่จะขอเล่าเรื่องราวของเพื่อนสนิทผมที่เป็นแม่ค้าออนไลน์ขายของในรูปแบบของ Pre-order โดยเป็นสินค้าที่ Pre-order มาจากประเทศจีน ว่าในแต่ละวันเขาต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง ในการเป็นแม่ค้าออนไลน์มากว่า 2 ปี
การขายในรูปแบบของ Pre-order เนี่ย จุดเด่นหลัก ๆ ของมัน คือการที่เราไม่ต้องสต๊อกสินค้า เรารอให้ลูกค้าสั่งสินค้าจากเราก่อน หลังจากนั้นเราค่อยไปสั่งสินค้าจากตัวร้านค้าอีกที ข้อดีของการขายของในรูปแบบนี้คือการที่เราไม่ต้องมีทุนเลยสักบาท ก็สามารถเริ่มได้ ส่วนข้อเสียของมันก็คือ เวลาในการขนส่งของสินค้า ที่จะใช้เวลานานพอสมควร ยิ่งเป็นสินค้าที่ส่งจากประเทศจีนแล้วเนี่ย ก็จะใช้เวลาราว ๆ 10-20 วันโดยประมาณ ทั้งนี้ ลูกค้าที่สนใจซื้อสินค้าในรูปแบบของ Pre-order ส่วนมากจะเป็นลูกค้าที่เน้นซื้อสินค้าในราคาถูก แต่ก็สามารถรอสินค้าได้ในเวลานานเช่นกัน
ปัญหาหลัก ๆ ที่มักจะพบเจอของแม่ค้า Pre-order ก็จะมีทั้งสินค้าจากร้านค้าที่ “ไม่ตรงปก” เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้การขนส่งล่าช้า
แต่ปัญหาที่บั่นทอนจิตใจของแม่ค้ามากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นถ้อยคำต่อว่าของลูกค้าบางราย ที่ไม่ให้เกียรติต่อตัวแม่ค้าเอาเสียเลย
อันที่จริง ปัญหาเหล่านี้เราพบเห็นกันมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมันเป็นการค้าขายในโลกออนไลน์ การพิมม์ การใช้คำด่าทอ การใช้ถ้อยคำหยาบคายก็ยิ่งทำได้ง่ายและรุนแรงขึ้น
เพื่อนของผมนั้นก็เจอมาหลายต่อหลายเคสมาก จะยกตัวอย่างเคสหนัก ๆ มาซัก 1 เคสละกัน
เรื่องมีอยู่ว่า...
ลูกค้ารายหนึ่งสั่งโคมไฟตั้งโต๊ะ 1 ตัวกับทางร้านค้า ซึ่งหลังจากได้รับสินค้าไปแล้วประมาณ 2 วัน ทางลูกค้าก็ทักแชทกับทางร้านค้า และแจ้งว่าสินค้ามีตำหนิ ต้องการเคลมสินค้า ทางแม่ค้าก็เลยต้องการตรวจสอบว่าสินค้ามีตำหนิตรงไหน เลยให้ลูกค้าถ่ายรูปมาให้ดู แต่เมื่อลูกค้าส่งรูปมาให้ ตัวสินค้ามีรอยขีดข่วนเล็ก ๆ บริเวณขอบของโคมไฟ ซึ่งเป็นขีดเล็ก ๆ ขนาดไม่ถึง 1 เซนติเมตร และตัวของโคมไฟก็ใช้งานได้ปกติ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถึงกระนั้น แม่ค้าก็ยังรับเคลมสินค้าให้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า สินค้าชิ้นนั้นเป็นสินค้าที่ขายดีมาก ๆ จึงทำให้ร้านค้าต้นทางก็ไม่มีสินค้าเหลือให้สั่ง Pre-order มาใหม่แล้วเช่นกัน
ทำให้แม่ค้าต้องแจ้งกับทางลูกค้าไปว่าสินค้าไม่มีในสต๊อกให้เปลี่ยนเคลม แต่สามารถคืนเงินให้ได้
แต่ตัวลูกค้ากลับบอกว่าไม่ต้องการเงินคืน และใช้ถ้อยคำเชิงออกคำสั่งไล่ให้ไปหาสินค้ามาให้ได้ เพื่อนผมใช้คำว่าลูกค้าใช้ถ้อยคำ “อย่างกับหมู อย่างกับหมา” เลยทีเดียว
ถึงตอนนี้เพื่อนคนนี้ก็ไม่คิดที่จะทำมาค้าขายกับลูกค้ารายนี้แล้ว และก็ยืนยันว่าจะคืนเงินท่าเดียวเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะลูกค้าก็ไม่ส่งเลขบัญชีธนาคาร
เรื่องราววิวาทะนี้ทำให้เพื่อนผมไม่สบายใจ และบั่นทอนจิตใจเป็นอย่างมาก เลยลองพยายามติดต่อกับทางร้านค้าที่จีน ให้ผลิตสินค้าชิ้นนี้เป็นพิเศษ ยอมจ่ายแพงกว่าราคาสินค้าเดิม และจัดส่งให้ลูกค้าใน 1 เดือนถัดมา ซึ่งลูกค้าก็ยอมรอแต่โดยดี แต่ก็ทำให้แม่ค้าเสียทั้งสุขภาพจิต และกำไรของสินค้าไปในคราเดียวกัน
กรณีนี้เพื่อนของผมถึงกับคิดหนักเลยว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไปดีไหม เพราะถ้าต้องมาเจอเคสแบบนี้ในทุก ๆ วัน ก็ไม่รู้ว่าสภาพจิตใจจะย่ำแย่ไปถึงจุดไหน
แต่ในท้ายที่สุด เพื่อนของผมก็ยังเลือกทำอาชีพแม่ค้าออนไลน์ต่อไป และออกกฎในการเคลมสินค้าให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง อย่างเช่นเคสที่กล่าวมาข้างต้น
จากเรื่องราวนี้ เราจะเห็นได้ว่าคำพูดของลูกค้าในลักษณะนี้ทำตัวยกตนข่มท่าน แค่คิดว่าจ่ายเงินแล้วก็ต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีทัศนคติว่า เมื่อฉันเป็นลูกค้า ฉันจะปฏิบัติตัวกับแม่ค้าอย่างไรก็ได้ แม้กระทั่ง “อย่างกับหมู อย่างกับหมา” ก็ได้ !
ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วแม่ค้าก็เป็นคนเหมือนกับลูกค้า ไม่ได้แตกต่างกันเลย
ลูกค้าจ่ายเงินให้แม่ค้า แม่ค้าก็ส่งสินค้าให้ลูกค้าก็เท่านั้น ไม่มีใครควรถูกปฏิบัติเช่นนี้หรอก สิ่งที่คนทุกคนควรมีในการอยู่ร่วมกันในสังคมคือ “มารยาท” และ “การให้เกียรติ” หรือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นแหละ
ใครจะไปรู้ว่าวันนี้คุณเป็นลูกค้า วันหน้าคุณอาจเป็นแม่ค้าออนไลน์เองก็ได้ ยุคออนไลน์ครองเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ !