xs
xsm
sm
md
lg

กทม. เดินหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟู-พัฒนาพื้นที่ "คลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร-คลองแสนแสบ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองปลัดกรุงเทพมหานคร นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะทำงานฯ เผย กทม. เดินหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ

วันนี้ (25 ม.ค.) เวลา 10.00 น. นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเขต 21 เขต ที่มีคลองในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ที่ประชุมรายผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน ซึ่งจัดการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.64 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.65 มีมติกำหนดแนวทางการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ On Air, On Line, On Ground และ Out of Home รวมทั้งมอบ ททบ.5 จัดทำวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คำสั่งคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และมอบ NBT จัดทำวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์การพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ โดยมอบทุกหน่วยงานนำวีดิทัศน์ที่ผลิตโดย ททบ.5 และ NBTเผยแพร่ในทุกช่องทาง พร้อมรวบรวมผลการเผยแพร่ส่งให้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รวบรวมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และให้จัดกิจกรรม On Ground ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่วนทุกหน่วยงานที่มีความพร้อม สามารถจัดกิจกรรมประชาสมพันธ์ฯ ได้ทันที และส่งผลการดำเนินงานให้สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รวบรวมรายงาน

นอกจากนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ได้เสนอแผนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมประชาชนในการพัฒนาและดูแลรักษาคลอง เพื่อให้สำนัก สำนักงานเขต มีแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่สอดคล้องและเป็นเอกภาพทั้งในระดับกรุงเทพมหานครและของรัฐบาล ภายใต้แนวคิด "รับรู้ ยอมรับ ปรับเปลี่ยน" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์คลองร่วมกัน ประกอบด้วย "รับรู้" การสื่อสารให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงแหล่งกำเนิดน้ำเสียสาเหตุของน้ำเน่าเสีย ปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดจากขยะ สิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ และการแก้ไขปัญหาที่ต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจแหล่งกำเนิดน้ำเสีย สาเหตุน้ำเน่าเสีย น้ำท่วมขัง ผู้อำนวยการเขตเดินดิน ลงพื้นที่สร้างความรู้และความเข้าใจกับประชาชน พร้อมเปิดตัวมาสคอต ปลาตะเพียน เดินเท้าเข้าชุมชน ประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ "ยอมรับ" สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ความจำเป็นและประโยชน์ของการดำเนินงาน รวมทั้งสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เกิดการยอมรับถึงปัญหา ตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับมิติต่าง ๆ ตลอดจนยินดีให้ความร่วมมือ โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรม On Ground รวมถึงผอ.เขตเดินดิน ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ และจัดกิจกรรมพัฒนาคูคลองเนื่องในวันสำคัญต่างๆ และ "ปรับเปลี่ยน" สื่อสารการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ส่งผลให้คุณภาพน้ำดีขึ้น คุณภาพชีวิตในมิติด้านต่างๆ ดีขึ้น เกิดชุมชนต้นแบบริมคลอง โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรม On Ground และผอ.เขตเดินดิน ลงพื้นที่ต่อเนื่องประชาสัมพันธ์ความสำเร็จและความพึงพอใจของประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ พร้อมมอบหมายทุกสำนักงานเขตสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำแผนพัฒนาคลอง ส่งให้สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ภายในวันที่ 28 ม.ค.65 เพื่อรวบรวมและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อให้การประชาสัมพันธ์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง สำนักและสำนักงานเขตควรสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงาน เช่น ชุมชน โรงเรียน สถานประกอบการ ร้านค้า กลุ่มกิจกรรมที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ที่ดีจะต้องมาจากองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งที่จะประชาสัมพันธ์ที่ดี เพื่อกระตุ้นความสนใจของประชาชน สร้างกระแสการรับรู้และสร้างพลังขับเคลื่อนของสังคม สำหรับโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองของกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างชัดเจน สำนักงานเขตต้องช่วยขับเคลื่อนด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการสร้างเขื่อนและการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นงานด้านกายภาพ การประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของการดำเนินโครงการฯ ในภาพรวมจะได้รับการตอบรับที่ดีต้องขยายผลให้ครอบคลุมมิติ 4 มิติ คือ 1.มิติด้านคุณภาพชีวิต การป้องกันน้ำท่วม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความสะดวกในการเดินทาง และสุขภาพ 2.มิติด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะและความเป็นระเบียบเรียบร้อย การดูแลคุณภาพน้ำและการบำบัดน้ำเสีย ความร่มรื่น สวยงาม 3.มิติด้านเศรษฐกิจ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แหล่งท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยว จุดพักผ่อน จุดแลนด์มารค์แห่งใหม่ และ 4.มิติด้านสังคม ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน กิจกรรมและพื้นที่สำหรับคนทุกวัยได้ใช้ประโยชน์ การเป็นแหล่งเรียนรู้พัฒนาคลองและส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง ดังนั้นสำนักงานเขตและสำนักควรร่วมกันพัฒนาชุมชนริมคลองให้มีความน่าสนใจและสอดรับกับมิติดังกล่าว เช่น การสร้างจุดเช็คอิน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าของชุมชน ควบคู่กับการขอความร่วมมือไม่ทิ้งขยะและน้ำเสีย เพื่อให้การพัฒนาและฟื้นฟูคลองของกรุงเทพมหานครสัมฤทธิ์ผล และยั่งยืนต่อไป
















กำลังโหลดความคิดเห็น