xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อกปัญหาการวิจัย “ทะเลและชายฝั่ง” ให้พร้อมใช้ และ มีผลกระทบสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว.ร่วมกับภาคีด้านสิ่งแวดล้อม สานเสวนา ปลดล็อกการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ในประเด็นทะเลและชายฝั่ง ลดปัญหาและช่องว่างการวิจัย ให้พร้อมใช้ และ มีผลกระทบสูง

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสิ่งแวดล้อม (SAT : Strategic Agenda Team) หรือ SAT สิ่งแวดล้อม จัดเสวนาปลดล็อกการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็นทะเลและชายฝั่ง เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการความรู้ เชื่อมต่อการดำเนินงานกับฝ่ายนโยบาย และ แผนด้าน ววน. ให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยทางด้านทะเลและชายฝั่งสู่การประโยชน์แก่ประเทศต่อไป

รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ
โอกาสนี้ รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ประธาน SAT สิ่งแวดล้อม อธิบายถึงการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. ว่า ที่ผ่านมา สกสว. มีความตั้งใจที่จะประสานเครือข่าย ววน. ร่วมกันขับเคลื่อน ออกแบบโจทย์ และทิศทางการวิจัย ในประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยการจัดตั้ง SAT : Strategic Agenda Team ซึ่งมีหน้าที่ ประสานเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ติดตามสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสังเคราะห์และจัดการองค์ความรู้ ให้เกิดความเชื่อมโยงการใช้องค์ความรู้ และการขับเคลื่อนองค์ความรู้ ระหว่างองค์กรในทุกระดับ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยลดช่องว่างของการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาแก่ประเทศไทยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของ SAT สิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องพัฒนาให้มีทิศททางที่สอดคล้องกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเวทีสานเสวนาในวันนี้ จะเป็นคุณูปการสำคัญ ที่จะนำไปวางกรอบทิศทางงานวิจัย และนำไปเชื่อมโยงกับฝ่ายกำหนดนโยบาย ตลอดจนการนำไปดำเนินการหาช่องทาง ลดข้อติดขัด เพิ่มจุดเชื่อมต่างๆ ให้ภาพการดำเนินการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เป็นจิ๊กซอว์เชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วน ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนและใช้องค์ความรู้ในการดำเนินงานตามพันธะกิจ ขณะเดียวกันยังสามารถกำหนดโจทย์วิจัยร่วมกัน ที่จะเสนอฝ่ายให้ทุนต่อไป


ผู้เข้าร่วมการเสวนา ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วน ผู้แทนหน่วยราชการ อาทิ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ รวมทั้งนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านทะเลและชายฝั่ง ได้สะท้อนมุมมองว่าที่ผ่านมางานวิจัยด้านนี้ถือว่ามีความก้าวหน้าในการนำไปใช้ในระดับนโยบายพอสมควร อาทิประเมินมูลค่าความเสียหายของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การพัฒนาตัวชี้วัด Ocean Health Index การวางแผนพื้นที่ทางทะเล เป็นต้น ในส่วนประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยสิ่งแวดล้อมในมิติทางทะเลและชายฝั่งที่ควรให้ความสำคัญ มีดังนี้

(1) การส่งเสริมงานวิจัยในเชิงการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบบูรณาการศาสตร์และข้ามศาสตร์ต่างๆ เนื่องด้วยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานโดยเฉพาะงานวิจัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้พัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นฐานสำคัญในทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลชายฝั่งที่เพียงพอในการประโยชน์ในเชิงรูปธรรม หากแต่ช่องว่างที่สำคัญคือ งานวิจัยยังคงมีลักษณะแบบแยกส่วน งานวิจัยด้านการบริหารจัดการที่เป็นการเชื่อมโยงและร้อยเรียงประเด็นทางทะเลเข้ากับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร วิถีชีวิต และความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้นถือว่ายังเป็นช่องว่างที่สำคัญ อาทิ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรทะเล ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกำหนดขีดความสามารถในการผลิตและทิศทางในการใช้ประโยชน์ทางทะเล การวางแผนและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ทางทะเลอย่างบูรณาการจากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ งานวิจัยในลักษณะของการบริหารจัดการทางทะเลและชายฝั่งนั้น ถือว่าเป็นการผสมผสานทั้งศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์อย่างแนบแน่น อาทิ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์
เป็นต้น มีลักษณะเป็นโจทย์วิจัยข้ามศาสตร์กันอย่างยิ่ง จึงเป็นความท้าทายต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ที่เผชิญปัญหาในการขอรับทุนสนับสนุนกับวิจัยที่ในปัจจุบันนั้นมีการแบ่งแยกภารกิจการให้ทุนวิจัยที่มีการแยกแยะโจทย์ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์อย่างชัดเจน จนทำให้งานทางด้านการจัดการจึงยากต่อการได้รับการสนุนทุนวิจัยจากโครงสร้างเชิงสถาบันของการบริหารทุนวิจัยเฉกเช่นในปัจจุบัน

(2) ความต้องการในการบริหารงานวิจัยในลักษณะชุดโครงการและผู้จัดการงานวิจัย (Research Manager) ด้วยโจทย์ทางทะเลและชายฝั่งรวมทั้งงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเฉพาะเจาะจงและมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยและพัฒนาในลักษณะโครงการเดี่ยวจึงอาจไม่สามารถสร้างพลังทางวิชาการและผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างเท่าทัน เนื่องจากทะเลและชายฝั่งมีความซับซ้อนสูง จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมร้อยของผู้จัดการงานวิจัยที่มี theme หรือทิศทางในเรื่องนั้น ๆ ให้สามารถขับเคลื่อนคณะทำงานที่มาจากหลายศาสตร์ความรู้ให้สามารถตอบโจทย์เดียวกันได้ อาทิ การศึกษาการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อาจต้องการทั้งงานวิจัยในเชิงกฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เพื่อสานพลังในการหาคำตอบร่วมกันได้ นอกจากนี้ การทำงานในชุดโครงการวิจัยโดยมีผู้จัดการงานวิจัยทำหน้าที่เชื่อมร้อยและทำให้งานวิจัยเสริมพลังกันและกันได้แล้วนั้น ยังมีส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยจากภาครัฐ ภาควิชาการ หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไป ให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิจัยร่วมกันได้ เนื่องจากสถานภาพของนักวิจัยทางทะเลและชายฝั่งของไทยในปัจจุบันนั้น ต้องยอมรับว่ามีความท้าทายในการขาดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในอนาคต

(3) การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางทะเลและชายฝั่งที่เชื่อมโยงกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ ทิศทางงานวิจัยทางทะเลและชายฝั่งซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันของไทยนั้น ถือว่ายังคงขับเคลื่อนในเชิงรับอย่างมาก โจทย์วิจัยหลายส่วนนั้นถูกมองข้ามหรือเป็นประเด็นความสำคัญรองอยู่มาก ซึ่งแตกต่างกับแวดวงวิจัยในต่างประเทศอย่างยิ่ง อาทิ แหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon sinks) ปรากฏการณ์ทะเลกรด (Ocean Acidification) หรือการแจ้งเตือนภัยทางทะเล รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินนโยบายหรือมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติบนบกที่ส่งผลต่อทะเล เป็นต้น

(4) ข้อจำกัดของกฎระเบียบงบประมาณและเงื่อนไขเวลาที่ไม่สอดคล้องกับผลลัพธ์ของงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง กล่าวคือ เนื่องด้วยงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ทางทะเลและชายฝั่งนั้น มีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลผ่านการเก็บตัวอย่าง สำรวจ หรือสังเกตพฤติกรรมของสัวต์ทะเล ซึ่งกระบวนเหล่านี้หลายครั้งแล้วไม่สามารถดำเนินให้ลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพทางวิชาการที่สูงในระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือการศึกษาวิจัยภายใต้กรอบเวลา 1 ปีงบประมาณที่นิยมดำเนินการในปัจจุบันนั้นสามารถให้คุณค่าในทางวิชาการที่น้อยหรือไม่อาจสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ได้เพราะนักวิจัยมีความจำเป็นต้องลดทอนขนาดของงานวิจัย ให้จำกัดทั้งขอบเขตเชิงพื้นที่และขอบข่ายทางวิชาการจนนำไปสู่ผลของการศึกษาที่ไม่เพียงต่อความต้องการของประเทศหรือแม้กระทั้งฝ่ายนโยบาย ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงกระบวนการงบประมาณให้มีความยืดหยุ่นต่อการนำไปใช้สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและปรับเงื่อนไขเวลาของการวิจัยที่มีระยะยาวมากขึ้น (3 – 5 ปี) ผ่านการบริหารจัดการแบบชุดโครงการนั้น จะเป็นทางหนุนเสริมที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างและปลดล็อกศักยภาพของการวิจัยและพัฒนาทางทะเลและชายฝั่ง ให้ก้าวกระโดดด้วยการขับเคลื่อนแบบองคาพยพได้ดียิ่งขึ้นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น