เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ จัดการประชุมนำเสนอความก้าวหน้า “การศึกษาและเปรียบเทียบความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย” เพื่อวิเคราะห์ความสามารถของกระบวนการผลิตวัคซีนในรูปแบบโครงสร้างต่าง ๆ ของประเทศ และทำการจัดลำดับความสำคัญของชนิดวัคซีน เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้ภาครัฐสามารถลงทุนด้านวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นโครงการสำคัญที่ทำให้เห็นถึงวิธีและการบวนการในการจัดลำดับความสำคัญ (Prioritization) และการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการพัฒนาวัคซีนโควิด19 ในประเทศไทย ปัจจุบันยังคงต้องการข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและวิธีการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศที่เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทางด้าน ศ.พญ. พรรณี ปิติสุทธิธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ “การศึกษาและเปรียบเทียบความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย” เปิดเผยว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแนวโน้มการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยใน 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) วัคซีน mRNA 2) วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) และ 3) วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines) รวมถึงศึกษาการเปรียบเทียบความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Fit) ของการพัฒนาและผลิตวัคซีนแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริม ผลักดัน และพัฒนาด้านการวิจัยวัคซีนไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยผลการประเมินความเหมาะสมต่อความพร้อมด้านการผลิตของการพัฒนาวัคซีนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในประเทศ ในเบื้องต้น ผลการประเมินของผู้เชี่ยวชาญสำหรับความเหมาะสมของเทคโนโลยีต่อความสามารถในการผลิตของประเทศ แสดงให้เห็นว่า วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ กับ วัคซีน mRNA มีความเหมาะสมใกล้เคียงกัน โดยในอนาคตหากสามารถพัฒนาระบบการขนส่งและการจัดเก็บวัคซีน mRNA ให้ดีขึ้น อาจมีความเหมาะสมกว่าการลงทุนในการพัฒนาวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ใช้ mRNA ในปัจจุบัน มีประเด็นของทรัพย์สินทางปัญญาจึงยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
ส่วนวัคซีนเชื้อตายเป็นแพลตฟอร์มดั้งเดิมที่มีการพัฒนากันมาอย่างยาวนาน จึงมีข้อจำกัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาน้อย เทคโนโลยีที่ใช้มีศักยภาพในการนำไปปรับใช้กับวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในประเทศไทยเองมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดวัคซีนเชื้อตาย โดยใช้ไข่ไก่ฟักและกำลังมีการวิจัยและพัฒนาไปใช้ในลักษณะของ cell based ในอนาคต ข้อจำกัดที่เริ่มต้นพัฒนาวัคซีนจากเชื้อไวรัสสาเหตุทำให้ต้องมีระดับการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพในชั้นที่เข้มงวด ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนด้านเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า แพลตฟอร์มวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะมีการใช้ไวรัสที่ไม่ก่อโรคเป็นพาหะนำส่งแอนติเจนเข้าสู่ร่างกาย การนำไวรัสพาหะมาใช้ยังจำเป็นต้องควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ในบางกรณีที่ไวรัสพาหะมีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ อาจลดระดับการควบคุมลงมาได้เล็กน้อย และเนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ จึงมีแนวโน้มที่จะนำไปปรับใช้กับการผลิตยาอื่น ๆ หรือปรับใช้กับการรักษาโรคอื่น ๆ ได้ในอนาคต
การศึกษาในขั้นตอนถัดไป จะเป็นการรวบรวมข้อมูลและนำข้อมูลที่ได้ มาดำเนินการศึกษาวิเคราะห์และประเมินระดับขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของประเทศในปัจจุบัน และจัดทำร่างแผนที่นำทางการพัฒนาวัคซีนและขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของประเทศ (Roadmap for Vaccine Development) ให้มีความยั่งยืนกับประเทศ ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะ