“เยาวชน” ถือเป็นช่วงวัยที่อยู่ในช่วงปรับตัวทั้งทางร่างกาย และสภาวะอารมณ์ เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และมีความอยากรู้อยากลอง ต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคมเพื่อน จนบางครั้งขาดความยับยั้งชั่งใจ และก้าวเข้าสู่ทางเดินที่ผิดจนถอนตัวไม่ทัน หรือสายเกินแก้
ดังนั้น การปลูกฝังเยาวชนในวัยนี้อย่างใส่ใจตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยง ที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อในอนาคตเยาวชนเหล่านี้จะสามารถเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ภายใต้โครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง” เพื่อสร้างการรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่อง เหล้า บุหรี่ การพนัน และรักในวัยเรียนให้กับเด็กและเยาวชน พร้อมไปกับการสร้างแกนนำเพื่อทำงานขับเคลื่อนด้านปัจจัยเสี่ยงภายในโรงเรียน และขยายผลไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า เด็กเยาวชนในยุคนี้มีความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงที่ท้าทายและอยู่รอบตัวไปหมด อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ยังมีความสัมพันธ์กับด้านพฤติกรรม เช่น การเริ่มต้นสูบบุหรี่ การเริ่มต้นดื่มเหล้า การติดพนัน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มต้นในช่วงวัยเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของการสร้างนิสัย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มาในรูปแบบของค่าย “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ภายใต้โครงการ “สานพลังเยาวชนอีสาน ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง”
“จิตวิทยาสำคัญของการดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ใช่เรื่องการห้าม และการสอน แต่คือการให้เขาได้เข้าใจถึงแก่นของปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมเสนอแนวทางแก้ไข ดังนั้น ภายในโครงการนี้เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ถึงต้นตอปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวและเขาก็จะหาทางแก้ไข การมองปัญหานี้จากมุมของเด็กและเยาวชนด้วยกันเอง การผลิตสื่อที่สื่อสารด้วยภาษาของเขา ที่เขาคิดว่า เพื่อนด้วยกันจะเข้าใจ ตรงนี้เองเป็นเรื่องที่ตำราสอนไม่ได้ เราต้องดึงจากประสบการณ์จริงของเด็ก ๆ ซึ่ง สสส. ต้องการ Know-how เหล่านี้ เพื่อที่จะรวบรวม และสังเคราะห์ พร้อมทั้งยกระดับไปสู่การขยายผลต่อไป”
ดร. สุปรีดา อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องเหล้า บุหรี่ การพนัน และรักในวัยเรียน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่สำคัญต่อเด็กและเยาวชนในยุคสมัยนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ 12.7 ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 15.4 ขณะที่ข้อมูลนักสูบหน้าใหม่ในปีเดียวกัน พบนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี จำนวน 211,474 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 73.7 เริ่มสูบบุหรี่ในช่วงอายุ 15-19 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้มีตัวเลขที่ลดลง แต่ขณะเดียวกันเด็กและเยาวชนกลับก้าวเข้าสู่วงการนักสูบหน้าใหม่กันเร็วขึ้น
ขณะที่อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงปี 2547 - 2564 พบว่า การดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 23.5 - 29.5 และในปี 2564 ลดลงเหลือร้อยละ 20.9 หรือคิดเป็นประมาณ 1.9 ล้านคน
นอกจากนี้ ในส่วนของการพนันมีการสำรวจประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 98.9 เกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนรอบข้างเล่นการพนัน โดยมีเยาวชนที่อายุ 15-25 ปี เล่นการพนันจำนวน 4.3 ล้านคน และมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นปัญหาอยู่ 6 แสนคน
“ผมคิดว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหวังว่า จากจุดนี้ ถ้าเขาจะเดินหน้าต่อ เขาจะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการที่จะช่วยทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เริ่มต้นในวัยเด็กและเยาวชน ก่อนที่จะขยายไปถึงวัยผู้ใหญ่ ให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้นได้” ดร. สุปรีดา กล่าวย้ำด้วยความเชื่อมั่น
ทั้งนี้ สสส. ก็ได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2563 โดยเริ่มในพื้นที่นำร่องภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรก ซึ่งในปี 2565 มีกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 4 จังหวัดในภาคอีสาน คือจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เข้าร่วมกว่า 21 โรงเรียน
ด้าน นายมนตรี จิตจักร ครูโรงเรียนบ้านทิพย์นวด จ.สุรินทร์ บอกเล่าถึงเหตุผลที่ได้นำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ไว้ว่า เนื่องจากโรงเรียนของตนถือเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่อยู่ชายขอบ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่ครอบครัวหย่าร้าง อยู่กับญาติมากกว่าพ่อและแม่ ดังนั้น เด็กนักเรียนในพื้นที่จึงต้องทำงานหาเงินด้วยตนเองตั้งแต่เด็ก ทั้งการทำฟางก้อน การตกปลา การหาอาหารตามทุ่งนาเพื่อมาขาย ซึ่งเมื่อมีรายได้ เด็กนักเรียนก็จะเลือกซื้อบุหรี่มาทดลอง เนื่องจากหาได้ง่ายและใกล้ตัว
“สิ่งที่หนักใจที่สุดสำหรับครูก็คือ เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างหรือเพิ่มเด็กที่มีภาวะเสี่ยงเข้าไปสู่สังคม เนื่องจากเราไม่สามารถบ่มเพาะนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียน เพื่อให้เขากลายไปเป็นเยาวชนที่ดีในสังคมได้ แต่พอเราเข้าโครงการ “Young สุข Young ไม่เสี่ยง” ก็ได้รับผลตอบที่ดีทั้งในตัวนักเรียนเอง ตลอดจนสถานศึกษาที่นักเรียนได้ไปศึกษาต่อ โดยในครั้งนี้ถือว่า เป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งเราคาดหวังว่า ต้นกล้าทั้ง 8 ต้นเหล่านี้จะสามารถดึงเพื่อน ๆ ทั้ง 200-300 คน ในโรงเรียนออกมาจากปัจจัยเสี่ยงให้ได้มากที่สุด“
ด้านทีม W.Y.K กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนแวงใหญ่วิทยาคม จ. ขอนแก่น ซึ่งส่งผลงานและมาเข้าค่ายร่วมทำกิจกรรมเป็นปีแรก อีกทั้งได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทคลิปวิดีโอ ภายใต้หัวข้อ “คนรุ่นใหม่ไม่สูบไม่เสี่ยง” ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ว่า ตลอดสองวันที่ผ่านมาได้รับความรู้กลับไปมากมาย พร้อมทั้งตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้รับกลับไปพัฒนาและถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องได้เข้าใจถึงปัญหาของปัจจัยเสี่ยงภายในโรงเรียนต่อไป
“ในฐานะเยาวชน เราก็อยากเป็นแกนนำ เป็นคนกลางในการสื่อสารและถ่ายทอดถึงโทษที่ตามมาของการเอาตัวเองเข้าไปทดลองสารเสพติด ไม่ว่าจะทั้งเหล้า บุหรี่ หรือสารเสพติด สุดท้ายก็อยากจะฝากเยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกคนว่า สารเสพติดเป็นสิ่งที่ไม่ดี อยากจะให้ทุกคนหลีกเลี่ยง เพราะการที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวมันส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเองและคนรอบข้างด้วย ดังนั้น ถ้าเรารักคนอื่นและรักตัวเองก็อยากจะให้ทุกคนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดเหล่านั้น”
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในไม่กี่โรงเรียน และเพียงหนึ่งภูมิภาค แต่เชื่อได้ว่า ในอนาคตโครงการนี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ร่วมกันตั้งไว้ พร้อมทั้งปูทางสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ และเป็นพลังสำคัญของประเทศได้อย่างมากมายแน่นอน