กสศ.- Sea (ประเทศไทย) – เครือข่ายรร.เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำสานต่อผลิตภัณฑ์จากตลาดวาดฝัน Equity – Partnership Season 3 ชวนช็อปกับแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” เพื่อต่อยอดทักษะอาชีพและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยรายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาค
วันนี้ (21 ม.ค.) ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จับมือกับ Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (Sea Money) เปิดแคมเปญ “ให้โอกาสเป็นของขวัญ” ได้สานต่อจากแนวคิดของตลาดวาดฝันที่นำผลิตภัณฑ์ของนักเรียนทุนเสมอภาคมาเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยในครั้งนี้ยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกจากนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. 10 โรง และนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ 7 โรง ที่เข้าร่วมโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค (Equity Partnership’s School Network Season 3) สานต่อภูมิปัญญาชุมชน โดยได้จับมือกันพัฒนางานหัตถกรรมต่าง ๆ ออกเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ
"โครงการนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสถานศึกษาในเขตเมือง และสถานศึกษาในเขตชนบท ครูผู้สอนแลกเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน นักเรียนได้พัฒนาจนเกิดกลไกการเรียนรู้และพัฒนาตามความถนัดและศักยภาพของกันและกัน ผ่านการร่วมกันดำเนินงานออกแบบระหว่างสถานศึกษา ทำงานอย่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นซีซั่นที่ 3" รองผู้จัดการ กสศ. กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. มีความตั้งใจสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เสริมทักษะชีวิตให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า เข้าร่วมในโครงการ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักเรียนเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ และนำมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ของ shopee โดยรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดจะมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาค จาก 10 โรงเรียน โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคตและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงเป็นประตูสู่โอกาสในการสร้างรายได้และอาชีพในอนาคต ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทักษะการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลสำหรับคนรุ่นใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการคว้าโอกาสแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล Sea (ประเทศไทย) มีความมุ่งมั่นในการสร้างทักษะดิจิทัลสำหรับเยาวชน ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Nation เรามีความตั้งใจในการสนับสนุนโครงการ Equity Partnership's School Network เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสใช้ความรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างแบรนด์ผนวกกับการใช้เครื่องมือทางการตลาดของช้อปปี้ในการผลักดันสินค้าท้องถิ่นให้เข้าถึงฐานลูกค้ามากยิ่งขึ้นผ่านแพลทฟอร์มช้อปปี้ เราหวังว่าน้องๆจะได้ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีในการสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน
สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มีโรงเรียนในเครือข่าย กสศ. เข้าร่วมจำนวน 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียน 1.โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน จ.เชียงราย 2.โรงเรียนบ้านใหม่ปางค่า จ.พะเยา 3.โรงเรียนบ้านป่าเลา จ.ลำพูน 4.โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม จ.ขอนแก่น 5.โรงเรียนอนุบาลหนองวัวซอ จ.อุดรธานี 6.โรงเรียนบ้านบางแก้ว จ.เพชรบุรี 7.โรงเรียนวัดโพธิ์เรียง จ.กระบี่ 8. โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย 9.โรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย จ.น่าน และ 10.โรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จ.ลำพูน พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติที่เข้าร่วมโครงการ 7 โรง ได้แก่ 1.โรงเรียนสาธิตประสานมิตร หลักสูตรนานาชาติ 2.โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา 3.โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์กรุงเทพ 4.โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี 5.โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ 6.โรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า และ 7.โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์กรุงเทพ
รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โดยในซีซั่น 3 นี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ได้แก่ โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน อ.เทิง จ.เชียงราย และ โรงเรียนสาธิตประสานมิตร หลักสูตรนานาชาติ ได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งต้นกล่องใส่กระดาษทิชชู่ ให้กลายเป็นปลอกหมอนปักผ้า โดยถ่ายทอดรูปดั้งเดิมของงานหัตถกรรมตามวิถีชีวิตของชาวม้งไว้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านใหม่ปางค่า อ.ปง จ.พะเยาและโรงเรียนบางกอกพัฒนา ได้ร่วมกันพัฒนาผ้าปักชาวเมี่ยน "กระเป๋า Mien Made" ซึ่งได้มาจากการผสมผสาน หัตถกรรมปักผ้าของชาวเมี่ยน ลายผ้าปักที่สืบกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษกับการออกแบบสมัยใหม่ที่เน้นความเรียบง่าย จนได้รูปแบบเฉพาะตัว โรงเรียนบ้านป่าเลา อ.แม่ทา จ.ลำพูนและโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์ ได้ร่วมกันพัฒนา เสื้อเช ผ้าฝ้ายทอมือ ออกมาเป็น เสื้อผ้าแบรนด์ "TACAYVA" โดยนำผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านป่าเลาด้วย มาประยุกต์เป็นรูปแบบและลวดลายเสื้อผ้าร่วมสมัยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผ้าทอกะเหรี่ยงของบ้านป่าเลาไว้ได้
ด้าน โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ ได้ร่วมกันพัฒนาเสื่อกก ออกมาเป็น กระเป๋าทรง Bucket Bag โรงเรียนอนุบาลหนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธาน และ โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ ได้ร่วมกัน พัฒนา "MUD JAI" ผ้าฝ้ายทอมือลายลูกแก้ว 4 ตะกอ ย้อมสีธรรมชาติ
ขณะที่ โรงเรียนบ้านบางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และโรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า ได้ร่วมกันพัฒนา สครับสูตรสาหร่ายพวงองุ่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากวัตถุดิบธรรมชาติ100% และโรงเรียนวัดโพธิ์เรียงกับโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ ได้ร่วมกันพัฒนาผ้าบาติกที่มีลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจจากทะเลอันดามันกลายเป็นลวดลายที่สวยงาม
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะจัดจำหน่ายแบบพิเศษสุด (Exclusive) ผลิตภัณฑ์ละ 50 ชิ้นเท่านั้น บนแพลทฟอร์ม Shopee โดยสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ https://bit.ly/EP3eefxShopee หรือดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น Shopee ได้จากทั้ง Play Store และ Apple Store พร้อมโค้ดส่วนลดเพิ่ม 10 % ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2565