“วิทยาลัยเพาะช่าง” ถือฤกษ์ดี 109 ปี ประกาศขอแยกตัวจาก มทร.รัตนโกสินทร์ ตั้งชื่อใหม่ เป็น “สถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง” ขึ้นตรง อว.
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้มีการแถลงข่าว “109 ปี เพาะช่าง อดีต ปัจจุบัน อนาคต สู่การเป็นสถาบันศิลปะชั้นนำของประเทศ” โดย ผศ.บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า วิทยาลัยเพาะช่าง เดิมชื่อว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” กำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในวันที่ 7 มกราคม 2456 ด้วยพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงศิลปะวิชาการช่างของไทยให้เจริญตามพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ ซึ่งวันนี้ที่ถือเป็นวันครบรอบ 109 ปี ปัจจุบัน วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นหนึ่งในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รัตนโกสินทร์ อยู่ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แต่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 อว.ได้ออกกฏกระทรวง การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 2. กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 3. กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 4. กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา 5. กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ และ 6. กลุ่มอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่ง มทร.รัตนโกสินทร์ ได้เลือกอยู่กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ซึ่งมีจุดเน้นเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ผศ.บรรลุ กล่าวต่อไปว่า จากประเด็นดังกล่าวทำให้วิทยาลัยเพาะช่างต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตนเอง แล้วเห็นว่า จะขอแยกตัวออกจาก มทร.รัตนโกสินทร์ มาเป็น “สถาบันศิลปะ โรงเรียนเพาะช่าง” มีสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปะ เทียบเท่ามหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัด อว. อยู่ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษากลุ่มที่ 5 คือ “กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ” โดยจัดการศึกษาจะมีอัตลักษณ์ ในการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนวิชาทางด้านศิลปะประจำชาติ ปัจจุบันสอนระดับปริญญาตรีใน 3 ภาควิชา 14 หลักสูตร และในอนาคตจะทำการเปิดสอนในระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 2 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 3 หลักสูตร ระดับปริญญาเอก 1 หลักสูตร และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพอีก 1 หลักสูตร ซึ่งขณะนี้เรามีความพร้อมทั้งทางด้านอาคารสถานที่ และบุคลากร
“การแยกออกจาก มทร.รัตนโกสินทร์ ได้ผ่านกระบวนการการรับฟังความเห็น มีการประชุม ทำประชามติ และเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย แล้ว จากนี้ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อยกฐานะสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านศิลปกรรม เป็นสถาบันหลักในการสร้างบุคลากรด้านศิลปวิชาการช่างไทย เป็นศูนย์บริหารจัดการองค์ความรู้ด้านศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ และเป็นสถาบันที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อสบสานดำรงความเป็นไทยและต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ศิลป์” ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง กล่าว