รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจความเรียบร้อยการรับสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พร้อมแต่งตั้ง กกต.เขต และ ผอ.กต.เขต จัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยและเป็นธรรม เปิดแผนจัดการเลือกตั้งซ่อม
วันนี้ (6 ม.ค.) นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจความเรียบร้อยการรับสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง ณ สำนักงานเขตหลักสี่
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 9 สิ้นสุดลง ส่งผลให้ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2564 และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 เป็นวันเลือกตั้ง พร้อมทั้งกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง ระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 2565 เวลา 08.30-16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องประชุมเปรมประชากร ชั้น 3 สำนักงานเขตหลักสี่
สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 9 กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เขตหลักสี่ ได้แก่ แขวงทุ่งสองห้อง และแขวงตลาดบางเขน และเขตจตุจักร จำนวน 3 แขวง ได้แก่ แขวงลาดยาว แขวงเสนานิคม และแขวงจันทรเกษม รวมมีหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 280 หน่วย แยกเป็น เขตหลักสี่ 122 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 86,544 คน และเขตจตุจักร 158 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 84,220 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564)
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต) และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (ผอ.กต.เขต) เพื่อให้การจัดการการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนี้ นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็นประธาน กกต.เขต นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร เป็น กกต.เขต นายอัมรินทร์ จารุตามระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็น กกต.เขต และนางสมฤดี ลันสุชีพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหลักสี่ เป็น ผอ.กต.เขต
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ให้ยื่นใบสมัครพร้อมค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 10,000 บาท พร้อมรูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก ขนาดกว้าง 8.5 ซม. ยาว 13.5 ซม. จำนวนคนละ 10 รูป รวมถึงหลักฐานประกอบการยื่นใบสมัครตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ยื่นต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งด้วยตนเอง ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองพรรคการเมือง หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีภาษี ได้แก่ ปีภาษี 2562, 2563, 2564 เว้นแต่เป็นผู้ไม่เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุของการไม่ได้เสียภาษี และหลักฐานประกอบการสมัครอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หลักฐานแสดงว่ามีชื่อในทะเบียนในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือหลักฐานแสดงว่าเคยรับราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือหลักฐานแสดงการเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
ในการสมัครรับเลือกตั้ง หากมีผู้สมัครลงทะเบียนก่อนเวลารับสมัคร 08.30 น. ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นผู้มายื่นใบสมัครรับเลือกตั้งพร้อมกัน ซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (ผอ.กต.เขต) จะจัดให้มีการประชุมผู้สมัครดังกล่าว เพื่อตกลงลำดับการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง หากไม่สามารถตกลงกันได้ จะดำเนินการจับสลาก โดยจับสลาก 2 ครั้ง ดังนี้
การจับสลากครั้งที่ 1 ผอ.กต.เขต หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เขียนชื่อผู้สมัครที่ต้องจับสลาก แล้วใส่ในภาชนะ แล้วให้ ผอ.กต.เขต เป็นผู้จับสลากชื่อผู้สมัครทีละหนึ่งใบ ชื่อผู้สมัครใดที่ถูกจับเป็นลำดับแรก ผู้สมัครรายนั้นจะเป็นผู้มีสิทธิจับสลากลำดับในการยื่นใบสมัครก่อน ส่วนชื่อผู้สมัครใดที่ถูกจับขึ้นเป็นลำดับถัดไป ให้ถือว่าผู้สมัครนั้น เป็นผู้มีสิทธิจับสลากเป็นลำดับถัดไปตามลำดับจนครบจำนวนผู้สมัคร
การจับสลากครั้งที่ 2 ผอ.กต.เขต หรือผู้ได้รับมอบหมาย เขียนหมายเลขหนึ่งจนถึงหมายเลขที่เท่ากับจำนวนผู้สมัคร แล้วให้ผู้สมัครทำการจับสลากเรียงลำดับตามผลการจับสลากครั้งที่ 1 ผู้สมัครใดจับสลากได้หมายเลขใด ถือว่าเป็นลำดับในการยื่นใบสมัครของผู้สมัครรายนั้น รวมถึงเป็นหมายเลขประตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกด้วย
โดยในวันแรกของการรับสมัคร วันที่ 6 ม.ค. 65 ช่วงเช้า มีผู้สมัครดังนี้ ผู้สมัครหมายเลข 1 นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี ผู้สมัครหมายเลข 2 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า ผู้สมัครหมายเลข 3 นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย ผู้สมัครหมายเลข 4 นางสาวกุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ชาติ ผู้สมัครหมายเลข 5 นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม พรรคไทยศรีวิไลย์ ผู้สมัครหมายเลข 6 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล ผู้สมัครหมายเลข 7 นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ
ทั้งนี้ กกต.เขตเลือกตั้งที่ 9 ยังดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ จนถึงวันที่ 10 ม.ค.65 เวลา 08.30-16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องประชุมเปรมประชากร ชั้น 3 สำนักงานเขตหลักสี่
สำหรับแผนการดำเนินการเลือกตั้งนั้น ภายหลังจากดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ผอ.กต.เขต จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งภายใน 7 วันนับแต่วันปิดรับสมัคร ในส่วนของสำนักงานเขตหลักสี่และจตุจักร จะดำเนินการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วส่งทางไปรษณีย์เพื่อให้เจ้าบ้านตรวจสอบ รวมถึงแก้ไขเพิ่ม-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ หีบบัตรเลือกตั้ง คูหาเลือกตั้ง และดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป