xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงหน้ากากทุกชนิดป้องกัน “โอมิครอน” ได้ ขอเพียงสวมถูกต้อง ไม่ไว้ใต้คาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน นั้น ระบุหน้ากากทุกชนิดสามารถป้องกันโอมิครอนได้ ย้ำสวมให้ถูกต้อง หน้ากากผ้าสามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงได้

วันนี้ (29 ธ.ค.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวชี้แจงในช่วงแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การสวมหน้ากากให้สามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้จะต้องทำให้ถูกต้อง หากสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 แต่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้ป้องกันได้ 100% จึงขึ้นกับวิธีการสวม รองลงมาคือ หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพดี ป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ส่วนหน้ากากผ้า ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า โอมิครอน ไม่ได้ตัวเล็กลง และมากับสารคัดหลั่งเหมือนเดิม ยังไม่มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชแยกตัวออกมาพิเศษ

“ไวรัสขนาดเล็กกว่ารูในหน้ากากอยู่แล้ว แต่มาจากสารคัดหลั่งเป็นโมเลกุลใหญ่ประมาณ 5-6 ไมครอนขึ้นไป ไม่ได้แยกตัวพุ่งทะลุผ่านหน้ากากเข้ามา คำตอบ จึงไม่ได้ต่างจากเชื้อเดิมที่มีอยู่ การที่หน้ากากป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตา แอลฟา เบตา ก็สามารถป้องกันเชื้อโอมิครอนได้ จึงขอให้ตั้งสติให้ดี เพราะการแพร่เร็วมีปัจจัยอื่นๆ มากพอสมควร ไม่ใช่สวมหน้ากากผ้าแล้วป้องกันไม่ได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า ต้องย้ำว่า “สวมให้ถูกต้อง หน้ากากผ้าสามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสวมหน้ากากสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า หน้ากาก N95 สามารถใช้ได้ทั้งหมดในการลดความเสี่ยง แต่การสวมแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสี่ยง

“หากในที่ชุมชนทั่วไป หน้ากากผ้ายังใช้ได้อยู่ โดยเฉพาะหน้ากากผ้ามัสลิน โอกาสที่เชื้อออกมาแพร่กระจายจะน้อยกว่า ส่วนหน้ากากอนามัย เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือบุคลากรด่านหน้า ที่มีความเสี่ยงพบผู้ป่วยไม่มาก แต่ยังมี ส่วนความเสี่ยงสูงสุด อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ห้องไอซียูที่ต้องใช้หน้ากาก N95 ที่สำคัญคือ ต้องสวมให้ถูกต้อง อย่าไว้ใต้คาง ซึ่งเจอแบบนี้บ่อยมาก” นพ.โอภาส กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น