รมว.สธ.เผยล่าสุดไทยพบผู้ติดเชื้อ "โอมิครอน" สะสม 205 ราย ห่วงคลัสเตอร์สามี-ภรรยา จ.กาฬสินธุ์ ทำติดเชื้อเพิ่ม 22 ราย เป็นพนักงานร้านอาหาร 19 ราย และครอบครัว 3 ราย และยังมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 100 ราย กำชับหน่วยงานสาธารณสุขตรวจ ATK ผู้ที่เดินจากต่างจังหวัดให้เข้ม
วันนี้ (24 ธ.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 12/2564 ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้อยู่ในพื้นที่ออกตรวจความเรียบร้อย ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ก็กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) แพ็คคู่กันไป หากพบกิจกรรมที่ทำผิดกฎระเบียบจากที่ขออนุญาตไว้ ก็ต้องดำเนินการยกเลิกทันที โดยไม่ต้องให้ความเกรงอกเกรงใจใครทั้งสิ้น เพราะถือว่าเราเปิดให้แล้ว ก็ขอให้ร่วมมือตามระเบียบ เพื่อให้ทุกคนฉลองอย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือจาก อสม.ในการออกตรวจตราคัดกรองผู้เดินทางเข้าพื้นที่ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK หากพบว่าผลเป็นลบ ก็ยังขอให้สังเกตอาการต่อเนื่อง และตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง พร้อมต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างและล้างมือ ซึ่งที่ผ่านมาทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดีก็ขอให้ท่านดำเนินต่อเพื่อความปลอดภัยในชุมชน
ส่วนพฤติกรรมใดมีความน่ากังวลในช่วงปีใหม่ นายอนุทิน กล่าวว่า การรวมกลุ่มกันอันตรายที่สุด ชัดเจนด้วยการติดเชื้อโอมิครอน ที่เดินทางมากจากต่างประเทศเรารู้ต้นตอว่ามาจากไหนนี่เป็นสิ่งที่ดี แต่หากใครที่เดินทางกลับบ้าน ก็ขอให้ตรวจ ATK ก่อนไปพบผู้อื่น ญาติพี่น้อง กรณี สามี-ภรรยา จ.กาฬสินธุ์ ที่เดินทางมาจากยุโรปตรวจ RT-PCR ผ่านก็กลับกาฬสินธุ์ ต่อจากนั้นไปหาญาติ จ.อุดรธานี แล้วไม่ได้ตรวจซ้ำ ก็ไปแพร่เชื้อ 22 ราย ทั้งครอบครัว พนักงานร้านอาหาร และลูกค้าในร้าน รวมถึงผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วม 100 ราย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวสะสม 205 ราย
กรณีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่ลักลอบออกจากโรงแรมกักตัว นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงกรณีนี้เพิ่มเติม แต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเนื่องจากเขาไม่ปฏิบัตามมาตรการของไทย ไม่รอผลการตรวจ RT-PCR แต่โชคดีที่เชื้อในระยะที่ไม่แพร่ให้ใคร แพทย์รายงานว่า ความเสี่ยงน่าจะน้อย ขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เข้าไปดูแลโรงแรมที่รับทำระบบกักตัว หรือแซนด์บ็อกซ์ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สบส.จะต้องเข้าไปดูโรงแรมที่กักตัวคนนักท่องเที่ยวรายดังกล่าว หากทำเต็มที่แล้วแต่ยังเขายังมุดลงใต้ดินหลบหนีได้ จะว่าโรงแรมผิดเต็มที่ก็ไม่ได้ ก็ต้องกำกับให้เขาเพิ่มมาตรการสอดส่องดูแล