xs
xsm
sm
md
lg

“ความงดงามของโอกาส”/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” ได้ไปชมนิทรรศกาลแสดงงานศิลปะ "ความงดงามของโอกาส" ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้คนมากมายถึงคำว่า “โอกาส” และได้ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งโอกาสผ่านคอลัมน์นี้

……

“โอกาส” เป็นคำที่ผมเชื่อว่าทุกคนได้ยินบ่อยมาก ความหมายและความสำคัญของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป และย่อมไม่เท่ากัน สำหรับคนที่อยู่ดีกินดี พ่อแม่รู้จักคนเยอะ คงไม่เห็นความสำคัญของคำว่าโอกาสเหมือนอย่างเด็กชาวดอยที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา หนุ่มหล่อหน้าตาดีกับคนที่นาน ๆ ทีจะมีผู้หญิงเข้ามาคุยด้วย ก็คงจะเห็นความสำคัญของโอกาสไม่เท่ากัน

และแน่นอน ผู้ที่เห็นคุณค่าของโอกาสมากที่สุด เห็นจะเป็นคนที่ทำพลาด และต้องการที่จะได้รับการให้อภัยจากสังคมและคนรอบตัว ผู้ที่มีความผิดติดตัวเสมือนกับเป็นตราบาป ถ้าหากเป็นไปได้ พวกเขาคงต้องการที่จะมีโอกาสในการลบล้างตราบาปนั้น หรือย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่เคยทำเอาไว้อย่างแน่นอน

ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมชมนิทรรศการงานแสดงศิลปะ "ความงดงามของโอกาส" นิทรรศการที่นำพาผมไปทำความเข้าใจมุมมองของผู้ที่ก้าวพลาด ทำให้โอกาสในการใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปปิดลง แต่ยังมีบางประตูเปิดให้โอกาสกับพวกเขา ให้เขากลับมามีอาชีพสุจริต สร้างชีวิตใหม่ และกลับคืนสู่สังคมอย่างเต็มภาคภูมิ

นิทรรศการนี้จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภายในงานจะมีการแสดงแง่มุมต่าง ๆ ของการเป็นผู้ต้องขังที่ต้องการโอกาสในการกลับสู่สังคม ซึ่งจากการที่ผมได้พูดคุยกับพี่ ๆ ศิลปินที่ประจำอยู่ในงาน ก็ทำให้ผมเกิดไอเดียมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับผู้ที่เคยต้องคดีแล้วไปใช้ชีวิตอยู่ในทัณฑสถาน

ไอเดียแรก - เป็นสิ่งที่ผมได้ยินจากคุณเปิ้ล จาริณี เมธีกุล ศิลปินเจ้าของผลงาน “Call Me by My Name” ที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ เป็นภาพวาดตัวเองของผู้ต้องขังบางคนยินดีที่จะนำเสนอตัวต้นของพวกเขาเองในฐานะปัจเจก ในสถานะที่มากกว่าการเป็นผู้ต้องขัง เพราะถึงแม้จะเป็นผู้ถูกคุมขัง ก็สามารถสื่อสารตัวตนและความเป็นตัวเองผ่านการวาดภาพได้ เพราะในมุมมองศิลปะ ทุกคนมีคุณค่าเสมอ


คุณเปิ้ลได้เล่ากับสื่อว่าเคยทำงานกับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง และได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ผู้ถูกคุมขังออกทีวี แล้วผู้ต้องขังท่านนั้นได้พูดกับคุณเปิ้ลว่า “ไม่ต้องเบลอหน้าผมออกทีวีได้ไหม” ซึ่งทำให้คุณเปิ้ลตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมสื่อต้องไปเบลอหน้าพวกเขาเวลาที่นำเสนอเรื่องราวของตัวเขาเอง คุณเปิ้ลยังเล่าอีกว่า ผู้ต้องขังบางคนก็อยากนำเสนอตัวตนของตัวเองได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป การไปเบลอหน้าเขาออกสื่อนั้น เผลอ ๆ จะกลายเป็นเครื่องหมายในการตอกย้ำถึงความเป็นนักโทษ ให้ผู้คนที่เสพสื่อตัดสิน โดยไม่เคยมีใครถามเจ้าตัวเลยว่า เขาอยากให้สื่อเบลอหน้าของเขาหรือไม่

ไอเดียที่สอง - ไอเดียนี้มาจากคุณนพพล ชูกลิ่น หรือ “พี่ตั้ม” ผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสอันประเมินค่าไม่ได้แก่ผม และแก่หลาย ๆ ชีวิตในเรือนจำ

แม้ว่าแท้จริงแล้วพี่ตั้มจะเป็นประธานบริษัท แต่ในวันนี้พี่ตั้มมาในฐานะศิลปินที่แสดงผลงานชุดภาพ โดยใช้ชื่อว่า “โอกาสที่งดงาม” เป็นชุดภาพถ่ายที่เกิดจากแรงบันดาลใจส่วนตัวของพี่ตั้ม หลังจากที่เคยเข้าไปศึกษาดูงานในเรือนจำ และเห็นถึงศักยภาพในการทำงานของคนในเรือนจำ ทำให้พี่ตั้มริเริ่มกระบวนการรับผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กแปรรูปของตนเอง

ตัวผมเคยแวะเวียนเข้าไปที่โรงงานของพี่ตั้ม ในตอนนั้นก็มีคนชี้ให้ผมเห็นคนงานที่ใส่กำไล EM ไว้ที่ข้อเท้า โดยพี่ตั้มก็ได้มาเล่าให้ฟังในภายหลังว่าเป็นโครงการของพี่ตั้มในการรับผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษมาเรียนรู้และทำงานโดยให้ค่าแรงไม่ต่ำกว่าระดับมาตรฐาน รวมทั้งการตั้งกลุ่มงาน Call Center ให้ผู้ต้องขังเป็นผู้ให้บริการ โดยการโทรศัพท์ออกไปยังลูกค้า

สำหรับงานศิลปะของพี่ตั้มนั้น ยึดโยงกับแนวคิดที่ว่า “การพลาดพลั้งในอดีต ไม่ได้เป็นตัวกำหนดอนาคต แต่โอกาสในการเรียนรู้ต่างหาก คือแสงแห่งความหวังที่จะส่องสว่างในวันข้างหน้า” ทำให้ผมเห็นถึง “ความงดงามของโอกาส” ที่ไม่ใช่แค่โอกาสสำหรับผู้ต้องขังที่กลับตัวกลับใจ แต่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่มองเห็นศักยภาพในตัวพวกเขา ซึ่งดีต่อธุรกิจ และดีต่อสังคม

ไอเดียที่สาม - “การจองจำทางสายตา” เป็นคีย์เวิร์ดที่ผมได้ยินจากไกด์คนหนึ่งที่พานำชมนิทรรศการ ...อ้อ..ผมลืมบอกไปครับว่าไกด์ผู้นำชมนิทรรศการนี้เป็นอดีตผู้ต้องขังที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ และได้รับโอกาสในการมีชีวิตใหม่อีกครั้ง ทำให้พวกเขาเข้าใจงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการเป็นอย่างดี เพราะชีวิตของพวกเขางดงามเพราะโอกาส เขาจึงเข้าใจ “ความงดงามของโอกาส” ยิ่งนัก




จากที่ได้สนทนากับพี่ ๆ ไกด์ เขาเล่าให้ฟังด้วยน้ำตาที่คลอเบ้าว่าชีวิตของพวกเขาหลังจากที่ได้รับอิสรภาพ พี่เขาไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ ชีวิตในคุกที่ว่าลำบาก แต่การออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เมื่อเขาต้องพบเจอกับสายตาของคนที่รู้ว่าเขาเคยติดคุก สายตาที่หวาดกลัว ดูถูกเหยียดหยามเหมือนไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ ไปสมัครงานที่ไหนก็ถูกปฏิเสธเพราะเห็นประวัติ เรียกได้ว่าหลังจากถูกจองจำทางกายมาแล้ว ยังต้องถูกจองจำด้วยสายตาของสังคมอีก

สำหรับพวกเขา โอกาสคือสิ่งล้ำค่า ผมไม่ได้พูดถึงโอกาสที่ได้ออกมาจากเรือนจำนะครับ ผมพูดถึงโอกาสในการให้เขาได้เริ่มต้นใหม่แบบสุจริต โอกาสในการแก้ไขไม่ให้ตัวเองทำผิดซ้ำ โอกาสจากสังคมในการมองพวกเขาด้วยสายตาที่ปกติ โอกาสในการกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับมาอีกครั้ง ซึ่งพี่ ๆ เขาก็กำลังต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้ทุกสายตาได้เห็นถึงศักยภาพของพี่ ๆ เขา ผ่านการทำงานฝีมือ ศิลปะ และการทำ Street Food

ในระยะหลังมานี้ ผมรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับคำว่า “โอกาส” น้อยลงมาก อาจเป็นเพราะคำ ๆ นี้ถูกพูดบ่อยจนกลายเป็นหัวข้อที่น่าเบื่อ บางคนก็ให้โอกาสคนอื่นมากจนเป็นวัฒนธรรม บ้างก็ได้รับโอกาสมากเกินไปจนคำว่า “โอกาส” สูญเสียคุณค่า

จริง ๆ แล้ว ในมุมมอง “โอกาส” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในยุคนี้ เพราะโทษทัณฑ์ของการก้าวพลาดนั้นแสนสาหัสกว่าแต่ก่อน เพราะนอกจากจะต้องโทษทางกฎหมาย ถูกประจานออกสื่อ ยังต้องอดทนกับข้อความกล่าวโทษจากทั่วทุกมุมอินเทอร์เน็ต ที่เร็วกว่า แรงกว่า และกว้างกว่าเมื่อก่อนเป็นไหน ๆ การจองจำทางสายตาที่ผมเล่าให้ฟังไปข้างต้นนั้นทำให้คนทุกข์ทรมานได้จริงฉันใด การถูกบูลลี่ในโลกไซเบอร์ก็ทำให้จิตใจแตกสลายได้ฉันนั้น

การทำพลาดมันไม่ได้หมายถึงแค่การทำผิดกฎหมาย แต่การปล่อยภาพ ข้อความ หรือเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ออกไปในโลกอินเทอร์เน็ต มันจะกลายเป็นร่องรอยทางดิจิทัล (Digital Footprints) ที่จะอยู่กับเราไปตลอดกาล แม้จะลบก็ไม่หาย ซึ่งความน่ากลัวคือมันสามารถย้อนกลับมาเล่นงานเราเมื่อไหร่ก็ได้ในอนาคต หากพลาดแล้วโดน “ทัวร์ลง” ทัวร์เหล่านั้นก็จะติดตัวไปตลอดชีวิต ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะทำให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกลบไปได้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเลยคิดว่าโลกกำลังต้องการ “โอกาส” มากกว่าที่ผ่านมา เพราะหากไร้ซึ่งโอกาสนั้นแล้ว โลกจะเต็มไปด้วยการผลักไส และไม่มีพื้นที่ตรงกลางสำหรับคนที่สำนึกผิดและคิดปรับปรุง

ฉะนั้นแล้ว สำหรับผม “โอกาส” เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมนุษย์ที่แตกต่างกัน คิดต่าง ทำต่าง แต่ต้องการปรับตัวเข้าหากัน เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุยกัน ให้อภัยกัน ยอมรับ และอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข

ผมเพียงหวังว่ามันจะเป็นไปได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น