เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบและวางแผนขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” โดยชุมชนท้องถิ่นว่า การลดอัตราการตายจากการบาดเจ็บทางถนนเป็น 1 ในทิศทางและเป้าหมาย ระยะ 10 ปี ของ สสส. เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของปัญหาสาธารณสุขของไทย จำนวนผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และผู้พิการมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ข้อมูลจาก Global Status Report on Road Safety 2018 ขององค์การอนามัยโลกไทย จัดอันดับไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดจากจักรยานยนต์ของไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 74.4 ของอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด ขณะที่เด็กและวัยรุ่นมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยต่ำมาก สำหรับสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และการไม่สวมหมวกนิรภัย ข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จากฐานข้อมูลบูรณาการการเสียชีวิต 3 ฐาน ในปี 2561-2563 พบว่า จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากร สูงในรอบ 3 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง
“สสส. ตั้งเป้าลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร และช่วยลดความสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือน โดยลดพฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนและสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เช่น รณรงค์ขับไม่ดื่ม สวมหมวกนิรภัย และสร้างสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถ และใช้ถนน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการใช้มาตรการทางสังคม เช่น การจัดการจุดเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ การจัดการยานพาหนะเสี่ยง และระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งความปลอดภัยทางถนนเริ่มที่ชุมชนท้องถิ่นได้ โดย สสส. ได้ถอดบทเรียนและออกแบบกิจกรรม “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และหนุนเสริมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ พร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็นจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น (ศปง.ขับขี่ปลอดภัย) โดยตั้งเป้าหมายกว่า 100 ตำบล ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” ดร.ประกาศิต กล่าว
รศ. ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) ของเครือข่ายตำบลสุขภาวะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทั่วประเทศ สนับสนุนโดย สสส. เมื่อเดือนตุลาคม 2564 พบว่า มีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปดื่มสุราเป็นประจำ จำนวน 536,123 คน จากประชากรจำนวน 8,215,694 คน ใน 2,677,838 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 7.40 โดยมีการดื่มสุราร่วมกับขับรถเร็ว ประมาท จำนวน 10,570 คนหรือร้อยละ 5.26 และมีการดื่มสุราร่วมกับไม่สวมหมวกนิรภัย จำนวน 27,236 คนหรือร้อยละ 13.57 และดื่มสุราร่วมกับไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน 5,302 หรือร้อยละ 2.64 จากข้อมูลดังกล่าว นำมาสู่การออกแบบและวางแผนขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ภายใต้แคมเปญ ลดเร็ว ลดเสี่ยง เลี่ยงตาย ชุมชนท้องถิ่นจัดการได้ โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ในช่วง 7 วันอันตราย พื้นที่เครือข่ายมีเป้าหมาย การพัฒนาศักยภาพ คน รถ ถนน เช่น รณรงค์ลดอุบัติเหตุจราจรทางถนน ตั้งด่านชุมชน แก้ปัญหาจุดเสี่ยง และเช็กสภาพรถ เป็นต้น
รศ. ดร.ขนิษฐา กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย ดำเนินการภายใต้ 5 ชุดกิจกรรมการจัดการความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย 1.การบริการและช่วยเหลือ เช่น จัดตั้งหน่วยบริการดูแล กำหนดให้มีแนวทางในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุ 2.การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย เช่น การรณรงค์ป้องกันอุบัติ จัดทำธรรมนูญตำบลหรือมาตรการชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย 3.การพัฒนาศักยภาพคน รถ ถนน เช่น การฝึกอบรมพัฒนาทักษะกฎหมาย กฎจราจร ปรับโครงสร้างถนน ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวถนน ไฟส่องสว่าง พร้อมทั้งมีศูนย์ตรวจเช็กสภาพรถในชุมชน 4.การจัดสภาพถนน และสิ่งแวดล้อม คือ ประกาศข้อกำหนดด้านจราจรในเขตชุมชน ทำป้ายแจ้งเตือนความเร็ว กำหนดให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า และ 5.การพัฒนานโยบายและแผน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) จัดทำข้อมูลความเสี่ยง พัฒนาระบบข้อมูลเฝ้าระวัง รวมไปถึงบรรจุโครงการในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ ทั้งนี้จะดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะป้องกันและเฝ้าระวัง ระยะเกิดเหตุ และระยะหลังเกิดเหตุและฟื้นฟู
ด้าน นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัฐฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. มีต้นทุนการทำงานในระดับจังหวัดระดับอำเภอโดยสนับสนุนการทำงานผ่านเครือข่ายคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ซึ่งมีเครือข่ายคนทำงานในทุกจังหวัดมีประสบการณ์การทำงานและแนวทางการปฏิบัติการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่จะสามารถหนุนเสริมการทำงานและเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการทำงานในระดับตำบล และมีต้นแบบตำบลในการจัดการอุบัติเหตุทางถนนได้ดีในหลากหลายพื้นที่และกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งมีองค์ความรู้ที่จะสนับสนุนและประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน โดยมีเกณฑ์ในการกำหนด “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” เกิดจากการทำงานในพื้นที่ปฏิบัติการที่ประสบผลสำเร็จซึ่งมีการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน และเป็นการกำหนดและยอมรับโดย ศปถ. ซึ่งเกณฑ์การดำเนินงาน 5 ข้อ มีดังนี้ 1.กลไกการจัดการที่เข้มแข็งโดยมีการจัดตั้ง ศปถ.อปท. หรือมีการตั้งคณะทำงานเพื่อความปลอดภัยทางถนนของ อปท. 2.ดำเนินแผน/กิจกรรมการสวมหมวกนิรภัย 100% 3.แผนหรือกิจกรรมการลดการเสียชีวิตจากการ “ดื่มขับ” 4.ดำเนินการลดความเร็วในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น 1 ท้องถิ่น 1 speed zone 5.มีการดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงใน อปท. ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของ ศปถ.