ค้นพบ “มหาเสมาทรงกลีบบัว” ฝัง 8 ทิศ อายุกว่าพันปีใกล้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ผลงาน U2T มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า ส่งต่อกรมศิลปากรเป็นข้อมูลประกอบเสนอยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี 2565 ต่อยูเนสโก
วันนี้ (16 ธ.ค.) นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี กรรมการโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T พร้อมด้วย รศ.ดร.ชวลิต อธิปัตยกุล ประธานศูนย์การเรียนรู้พุทธศิลป์อีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ลงพื้นที่บริเวณบ้านไผ่ล้อม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพื่อสำรวจการค้นพบใบเสมาขนาดใหญ่โดยผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลตำบลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า ในด้านเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
เมื่อไปถึงพบลานกว้างบนพื้นราบ มีหลุมที่ขุดค้นพบใบเสมาจำนวน 8 หลุม โดยมีการขุดหลุมและล้อมรั้วไว้เพื่อป้องกัน บางหลุมพบใบเสมาที่มียอดโผล่ขึ้นมาบนผืนดิน ขณะที่บางหลุมยังไม่มีการขุดลงเพื่อสำรวจ ขณะเดียวกันมีหลุมที่ขุดแล้วค้นพบใบเสมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มีลักษณะเป็นหินทราย ทรงกลีบบัวทรงสูงขนาดกว่า 3 เมตร จำนวน 3 ใบเสมา
ทั้งนี้ รศ.ดร.ชวลิต กล่าวว่า บริเวณที่ขุดค้นพบใบเสมาน่าจะเป็นศาสนสถานหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่สำคัญๆ ของผู้คนในอดีตในอาณาบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นการปักใบเสมาไว้ 8 ทิศ อยู่ในยุคทวารวดี อายุกว่า 1,000 ปี เมื่อสำรวจเจอได้แจ้งกรมศิลปากรให้มาทำการขุดสำรวจ แล้วจึงพบใบเสมา เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พื้นที่ที่พบใบเสมาซึ่งน่าจะเรียกมหาเสมามากกว่าเนื่องจากปักรวมกัน 3 ใบเสมาซ้อนกัน เพื่อแสดงอาณาเขตของศาสนสถานหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขุดค้นพบหลักหินหรือใบเสมาบริเวณตั้งแต่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทยาวไปถึง จ.หนองบัวลำภู ถึง 33 แห่ง
ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า การค้นพบใบเสมาโดยผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นรูปธรรม เพื่อจะนำไปต่อยอดทั้งด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมผ่านการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวใน อ.บ้านผือ ในอนาคต ที่สำคัญ การค้นพบครั้งนี้จะเป็นส่วนสนับสนุนข้อมูลเรื่องหลักหินหรือใบเสมาในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อใช้ในการประกอบเสนอยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในปี 2565 ต่อยูเนสโก