วันที่ 13 ธันวาคม ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยจากคณะนักวิจัยประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ารวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือที่เรียกว่า Population Assessment of Tobacco Health (PATH) study ระหว่างปี 2559-2561 ซึ่งคณะนักวิจัยสนใจศึกษาเฉพาะในกลุ่มประชาชนเพศชายอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 13,711 คน โดยเน้นศึกษาผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อสมรรถภาพทางเพศ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศสูงกว่าผู้ชายที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 2.4 เท่า โดยการศึกษามีการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่น่าจะส่งผลต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศแล้ว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด อายุ การสูบบุหรี่ธรรมดา และปัจจัยอื่นๆ
“คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่า “การสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีผลต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศจริง” โดยอธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมเกิดจากสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสารอื่นๆ ที่ผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่ไปลดระดับของฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสโทสเตอร์โรน โดยยิ่งสูบมากจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศมากขึ้น” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเป็นที่รู้กันมานานแล้ว จากรายงานหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย พบว่า คนที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง มีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเพิ่มขึ้น 40% หรือแม้แต่สูบน้อยกว่า 1 ซอง การเกิดอวัยวะเพศไม่แข็งตัวก็เพิ่มขึ้น 24% ซึ่งนิโคตินในบุหรี่ทำให้เส้นเลือดทั่วตัว รวมทั้งที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงน้อยลง ส่งผลให้เนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนและสารอาหารน้อยลง นิโคตินจากการสูบบุหรี่ที่ทำให้เส้นเลือดที่หดตัวซ้ำๆ เกิดการแข็งตัวและมีความยืดหยุ่นน้อยลง “วิธีรักษาอวัยวะเพศไม่แข็งตัวในคนที่สูบบุหรี่ที่ดีที่สุด คือ การเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า”