xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมสร้าง “เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ส่งต่อความมั่นใจให้ผู้บริโภค ปลูกความยั่งยืนให้เกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร จัดสัมมนาออนไลน์ ครั้งที่ 1 ในประเด็นข้อเสนอต่อแผน 13 "เกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ภายใต้ชุดสัมมนาออนไลน์ “แผนพัฒน์ 13 ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อร่างข้อเสนอนโยบาย ปรับโครงสร้างระบบเก่าที่ถึงทางตัน ขยายพื้นที่เกษตรสู่เมือง ดึงเกษตรกรเข้ามามีบทบาท ผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

โดยภายในงานสัมมนาได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยในหัวข้อ “ข้อเสนอเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : ข้อเสนอจากเครือข่ายและภาควิชาการ” ที่ทำให้เห็นถึงภาพรวมและปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมในมุมมองของแต่ละภาคส่วน พร้อมทั้งร่วมหาทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาจริงจัง

โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันเข้าร่วมสัมมนาด้วย ทั้ง Prof.Dr.Peter Rosset ECOSUR Advanced Studies Institute คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานคณะกรรมการยกร่างแผนฯ 13 หมุดหมายที่ 8 นายสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.จตุพร เทียรมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวมทั้ง ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)


ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล    อรุโณทัย  อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า
มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสัมมนาออนไลน์  เพราะถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่13 กำลังอยู่ในระหว่างการร่าง   ทั้งยังมีหมุดหมายสำหรับหลายประการ แต่ในขณะเดียวกันหมุดหมายในประเด็นเกษตรกรรมและอาหารยั่งยืน ตลอดจนเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เกษตรเชิงนิเวศ) กลับยังไม่เห็นภาพชัดเจนมากนัก
สำหรับการหยิบยกให้เป็นประเด็นสำคัญใน13 หมุดหมายนี้


นายวิฑูรย์    เลี่ยนจำรูญ   ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวถึงภาพรวมจากการแลกเปลี่ยนข้อเสนอนโยบายของวิทยาการทุกท่านว่า  มีประเด็นสำคัญอยู่5 ประเด็นหลักซึ่งควรให้ความสำคัญ โดยประเด็นที่1 นั้นคือลดการอุดหนุนการเกษตรแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับและเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตรสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อเกษตรกรทุกคน

ประเด็นถัดมาคือต้องมีการปรับไปสู่การผลิตที่มีความยั่งยืน  เช่น เกษตรผสมผสาน หรือเกษตรกรที่มีมูลค่าสูง เช่น เกษตรอินทรีย์  โดยจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า  มูลค่าการส่งออกข้าวในช่วงสามปีที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือปีละ13% แต่ในขณะเดียวกัน ข้าวอินทรีย์กลับมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นปีละ17.1%


ประเด็นที่3 ว่าด้วยการสนับสนุนให้ชาวบ้านเข้ามามีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว  ซึ่งแต่เดิมนั้นมีเพียงหน่วยราชการที่ทำตรงนี้ นอกจากนี้เรื่องของเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตก็ควรได้รับการส่งเสริม

ประเด็นที่4 คือความพร้อมในการสนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่เกษตรกรรมเข้าสู่เมือง  ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น  ช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยจากข้อมูลพบว่า  ครัวเรือนรายได้น้อยมีภาระค่าใช้จ่ายไปกับผักและผลไม้กว่า12%

ประเด็นสุดท้ายคือให้มีการจัดตั้งระบบที่เอื้อต่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  เริ่มตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด เช่น อปท. องค์กรเกษตรกร  หรือกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกัน โดยสามารถริเริ่มคิดแผน  ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยตนเองได้


นอกจากนี้แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่วิทยากรหลายท่านเน้นย้ำ  คือการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทในภาคเกษตรกรรมมากขึ้น  พร้อมดึงศักยภาพออกมาพัฒนาภาคเกษตรกรรมร่วมกัน

“การตั้งเป้าหมายเรื่องเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  จำเป็นที่จะต้องตั้งให้เป็นระบบและชัดเจน เพื่อการปรับโครงสร้างที่ตามมาจะต้องรองรับการผลิตรูปแบบนี้ไปด้วย  ไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่สามารถหลุดออกไปจากทางตันของระบบเกษตรกรรรมได้เลยคาดหวังว่า ข้อเสนอนโยบายจากเครือข่ายเกษตรกรรม  รวมทั้งภาควิชาการ จะถูกนำไปเสนอในที่ประชุมของคณะกรรมการแต่ละหมุดหมาย  เพื่อปรับแบบแผนให้มีเหมาะสมต่อไป”นายวิฑูรย์   เลี่ยนจำรูญ  กล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นและมีความหวัง

เป้าหมายการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เป็น  “เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”  ยังต้องเดินทางต่อไป  แต่ถึงอย่างนั้นข้อเสนอนโยบายต่าง ๆ ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวันนี้ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญ ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวเกษตรกรและต่อภาคการเกษตรกรรมที่นับว่าเป็นรากฐานของประเทศมาอย่างยาวนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น