xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงลูกให้เหมาะกับโลกอนาคต!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างที่ดิฉันหาข้อมูลได้ไปเจอบทความชิ้นหนึ่งที่เคยเขียนไว้เมื่อ 17 ปีที่แล้ว

ดิฉันเคยเชิญ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไปให้ความรู้ผู้ปกครองในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งลูกชายดิฉันเคยเรียนอยู่ตั้งแต่ปี 2547 ในหัวข้อ “เลี้ยงลูกอย่างไรให้เหมาะกับโลกอนาคต” ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไป 17 ปี เมื่อดิฉันได้กลับมาอ่านอีกครั้ง เรื่องราวต่างๆ ก็ยังคงเข้ากับยุคสมัย ซ้ำยังมีหลายเรื่องที่สะท้อนปรากฎการณ์ทางครอบครัวและสังคมจนถึงปัจจุบัน

……………

สิ่งที่ผมเป็นห่วงอยู่มากในขณะนี้ก็คือ ถ้าอัตราการเดินหน้าของสังคมไทยยังคงเป็นไปตามวิถีทางของการดำเนินการในแนวความคิดของเงินตราเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตแล้ว ผมมองไม่เห็นอนาคตของเมืองไทย เราไปเน้นกำไรทางตัวเลข จนกระทั่งทุกวันนี้สังคมไทยขาดทุนทางจิตวิญญาณอย่างมหาศาล ในความเห็นผม มองว่าอนาคตของสังคมค่อนข้างจะมืดบอด เหตุผลก็เพราะว่า สิ่งแวดล้อมและอิทธิพลในสังคมที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทางด้านศีลธรรม

ถามต่อว่า ศีลธรรมมีความสำคัญขนาดไหนกับการดำรงชีวิตอยู่ในทุกวันนี้

ผมคิดว่า ศีลธรรมเป็นตัวกำกับให้มนุษย์เรานั้นมีวิญญาณ ทุกวันนี้ถ้าเราดูข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ผมว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพียงแค่ 7 วัน ปรากฏว่ามีข่าวที่สะท้อนถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมเยอะมาก ข่าวเลวร้ายพวกนี้เมื่อผ่านออกไปสู่กระแสสังคมโดยสื่อมวลชน ก็ได้รับการช่วยเหลืออย่างมหาศาล ทั้งๆ ที่น่าจะมีการช่วยเหลือตั้งแต่ทีแรกด้วยการเอื้ออาทรจากคนรอบข้าง

ในส่วนหนึ่งเรามามองเห็นความน่ารักของคนไทยที่พอรู้ว่าคนมีปัญหาแล้ว ก็เข้ามาช่วย

แต่ในอีกมิติหนึ่งเราลืมนึกไปว่าเรื่องอย่างนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าสังคมไทยไม่ใช่สังคมแบบตัวใครตัวมัน จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนบ้านใกล้เรือนเคียงจะไม่รู้ว่ามีคนเดือดร้อนอยู่ในบริเวณใกล้ๆ ที่เขาพักอาศัย จะเป็นไปได้อยู่กรณีเดียวก็คือว่า เดี๋ยวนี้เราไม่สนใจใครแล้ว เราเอาแต่เพียงตัวเองรอด อนาคตของสังคมนั้น เป็นอนาคตในยุคที่ผมเรียกว่า เทคโนโลยีเป็นเจ้านายเรา

ผมเคยพูดและเชื่อตลอดว่า เราไม่ควรให้เทคโนโลยีมาใช้เรา แต่เราควรจะเป็นคนใช้เทคโนโลยี ผมไปพูดที่ไหนก็ตาม มักจะยกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือ เหมือนกับคอนเสิร์ตฮอลล์ คุณเดินเข้าไปได้ยินเสียงเพลง จิตใจคุณก็กระโดดโลดเต้นไปตามเพลงด้วย โดยไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนแต่ง ใครเป็นคนกำกับ แต่ถ้าคุณเดินเข้าไปแล้วบอกว่า ผมขี้เกียจฟังเพลงนี้ อยากจะกำหนดเพลงของตัวเองบ้าง จิตใจคุณก็ไม่ต้องล่องลอยไปตามสิ่งแวดล้อม

ผมเคยเอาโทรศัพท์มือถือของตัวเองให้เลขาไว้ช่วยจดเอาไว้ว่าในวันนั้นมี Miss Call กี่สาย ปรากฏว่ามีทั้งหมด 20 กว่าสาย ผมก็มาไล่ดูเป็นเรื่องไร้สาระซะส่วนใหญ่ มีสายที่เป็นเรื่องงานจริงๆ เพียงแค่ 3-4 สาย แต่เมื่อเช็กดูแล้วก็ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่าไร สามารถรอได้ ผมก็เลยสรุปกับตัวเองว่า บางทีสังคมปัจจุบันเอาเรื่องความเร็วมากำกับชีวิตของเรา แล้วเราไม่คุมสติของเราให้ดี เราก็เร่งไปตามสปีดของมัน

ตรงนี้มันจะย้อนกลับมาหาพ่อแม่ที่ชอบพูดกับลูกว่า พ่อไม่มีเวลา

ส่วนนี้สำคัญมากๆ เพราะจากจุดนี้เป็นต้นไป เราก็จะถูกเทคโนโลยีกำกับชีวิตเรา ก็เลยทำให้ลูกเราต้องหันไปพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะว่าเขาพึ่งเราไม่ได้ อาจเป็นเพราะว่าตอนที่ลูกชายผมอายุขนาดเท่าลูกชายของพวกคุณ เทคโนโลยียังไม่มาไวขนาดนี้ การที่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้เหมือนตอนนี้ อาจเป็นความโชคดีของเราก็ได้ พวกเด็กสมัยใหม่ที่โตมาในยุคนี้ ในที่สุดแล้วจะก้าวเข้าสู่ยุคที่ผมเรียกว่า คอมพิวเตอร์เบส ก็คือว่าลูกของเราทุกคน ผมเชื่อว่าเมื่อเขาโตเป็นหนุ่มแล้ว ใช้คอมพิวเตอร์เป็นทุกคน แล้วก็จะติดคอมพิวเตอร์ ถึงจุดที่เรียกว่า ถ้าเขาไม่มีคอมพิวเตอร์ เขาอาจจะอยู่ไม่ได้ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเรื่องหนึ่ง เขาจะเป็นเด็กในยุคคอมพิวเตอร์เบส และความเร็ว ยุคข่าวสารข้อมูลมาถึงตัวเขา โดยที่เขาไม่ต้องแสวงหา

ถามว่าแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร

ยกตัวอย่าง ลายมือของเด็กสมัยนี้ค่อนข้างแย่ ในขณะที่ยุคผมเขียนหนังสือผมจะใช้ปากกาหมึกซึม อาจเป็นเพราะผมติดกับความเคยชินแบบนี้ หรือเพราะผมมีความรู้สึกว่าขณะที่เขียนหนังสือด้วยหมึกซึม มันได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้นผ่านลายเส้นจากปากกา อารมณ์ที่ฉุนเฉียว ก็จะทำให้หมึกเข้ม อารมณ์ที่อ่อนไหวก็จะทำให้หมึกอ่อนบาง ตรงนี้เป็นทักษะพื้นฐานที่เด็กขาดไป

อีกประการหนึ่งก็คือ ความจำ เดี๋ยวนี้ใครลองทำโทรศัพท์มือถือหาย เหมือนชีวิตดับสิ้นเลย เพราะความจำทุกอย่างถูกเก็บไว้ในซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ยุคผมยังจำได้ว่าจำได้แค่เบอร์โทรบ้านป้าคนเดียว ส่วนเบอร์อื่นๆ ถ้าอยากรู้ก็โทรไปที่บ้านป้า เดี๋ยวก็จะได้เอง ตรงนี้ก็จะหายไปเหมือนกัน จะเห็นว่าทุกอย่างถูกถ่ายเทไปให้เทคโนโลยีทำหน้าที่แทนหมด นี่คือการที่เราปล่อยให้เทคโนโลยีมาเป็นเจ้าของเรา ซึ่งถ้าหากเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปแล้ว จะทำให้ด้านจิตวิญญาณของเราอ่อนด้อยลงไปมาก

อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิช เคยนั่งคุยกับผม ท่านบอกว่า หัวของคนเราจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่า Emotionalism คือ อารมณ์ อีกส่วนหนึ่ง Rationalism ก็คือเหตุผล เทคโนโลยีคือเหตุผล จะเห็นว่าหลายๆ สังคม มีส่วนผสมของเหตุผลและอารมณ์อยู่ด้วย

ในอดีตเหตุผลของพ่อแม่ผมอยากให้ลูกเรียนวิศวะ หรือหมอ เพราะในความคิดของท่านนั้น ทั้งสองวิชานี้จบออกมาแล้วหางานทำได้ง่าย ท่านไม่อยากให้ลูกลำบากจึงอยากให้เรียนทางด้านนี้ แต่อารมณ์ของผมในตอนนั้น เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และต้องการที่จะเรียนทางด้านนี้ ซึ่งในตอนนั้นผมก็สอบติดหมอ แต่ผมไม่ชอบ ก็เลยหนีการไปสอบสัมภาษณ์ ก็เลยตก ผมจำได้ว่าโดนพ่อตบจนตกบันไดเลย ยังดีที่ความรักของแม่ที่มีอยู่ ทำให้ท่านวิ่งเข้ามากอดผม แล้วก็บอกพ่อว่าช่างมันเถอะ มันอยากเรียนอะไรก็ปล่อยมันไป ในที่สุดผมก็ได้เรียนประวัติศาสตร์

พอมายุคช่วงหลังๆ เหตุผลมันเริ่มมากขึ้นกว่าอารมณ์ หรืออีกนัยหนึ่งวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีมันเริ่มมากกว่าอารมณ์แล้ว เมื่อมันเริ่มมากกว่าในตอนนี้ เด็กของเราในอนาคตก็เลยจะถูกกำกับด้วยการ 2+2 เป็น 4 หรือ 3+3 เป็น 6 ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ผิด

แต่ผมว่าสังคมไทยไม่สามารถที่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ผสมผสานระหว่างอารมณ์กับเหตุผลได้ หรือให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณ และมีความสามารถที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ผมคิดว่าในอนาคต ก็คงจะเป็นอนาคตที่ถ้าเราไม่สามารถที่จะเข้าใจตรงจุดนี้ และไม่ดำเนินการฝึกอบรมลูกของเราต่อไป ก็คงจะอยู่กันยาก

ผมยังเชื่ออยู่อย่างบริสุทธิ์ใจ ปลูกมะม่วงย่อมได้มะม่วง จะได้ทุเรียนได้อย่างไร ลูกเราเป็นอย่างไร ส่วนนึงมาจากสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนส่วนนึง ที่สำคัญมากมาจากตัวพวกเรา ถ้าเรารู้จักสร้างองค์ความรู้ให้ลูกเรา เรารู้ว่ามีสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายแบบนี้ แต่เราต้องกัดฟันสู้ เราต้องหมั่นให้ลูกของเราเกิดความเคยชินกับเรื่องที่มีสาระ ต้องพยายามให้เขาเข้าไปสู่กระบวนการและกระแสเรื่องที่มีสาระ และต่อมาเราจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ ถึงความถูกต้องและความไม่ถูกต้อง

แล้วพอถึงวันหยุดลองพาลูกไปพิพิธภัณฑ์บ้าง ไปหอศิลป์ หรือว่าไปดูทัศนียภาพ ไปท่องเที่ยว ให้เขาได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากๆ เพราะว่าที่เราเจอทุกวันนี้มันเป็นสิ่งหลอกลวง

เรื่องสุดท้ายคือเรื่องการให้ความรักความอบอุ่นกับลูกนี่สำคัญมาก แต่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้ลูกเป็นคนดี อย่าสอนลูกว่า การมีเงินตรา การร่ำรวยนั้นเป็นที่สุด อันนั้นไม่ใช่ สอนให้ลูกตื่นมาตอนเช้าให้คิดดี ทำดี การที่จะสอนเช่นนั้นได้ พวกเราต้องทำก่อน ก็คือเมื่อเราตื่นมาตอนเช้าต้องคิดดี ทำดี ผมคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้วครับ

.................

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณสนธิพูดเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าโลกอนาคตของวันนั้น ซึ่งก็คือวันนี้ก็ยังคงดำรงปัญหาอยู่ และนับวันสภาพปัญหาต่าง ๆ ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามความเร็วของโลกเทคโนโลยี

ทำให้เกิดคำถามว่า หรือเรากำลังเลี้ยงลูกเพื่อวันนี้หรือเพื่ออนาคต!
กำลังโหลดความคิดเห็น