ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ เป็นต้นแบบการปรับปรุงทางเท้า เป็นพื้นที่นำร่องย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมือง คาดแล้วเสร็จ่วงสงกรานต์ 2565
วันนี้ (23 พ.ย.) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความคืบหน้าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ พื้นที่เขตปทุมวัน โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง การไฟฟ้านครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจความคืบหน้าและให้ข้อมูล ณ บริเวณแยกปทุมวัน (ทางลงสกายวอล์ค ฝั่งสยามสแควร์) เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ พื้นที่เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ประกอบกับปรับภูมิทัศน์ในแนวเขตทางสาธารณะให้สอดคล้องกับอาคารของเอกชนที่อยู่โดยรอบ เพื่อเป็นต้นแบบการปรับปรุงทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมจัดระเบียบสาธารณูปโภคต่างๆ ใต้ทางเท้า เพื่อให้การซ่อมบำรุงหรือปรับปรุงในอนาคตเป็นระบบมากขึ้น จัดระเบียบสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ป้ายโฆษณา ตู้ไฟฟ้า และจุดจอดมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้งเพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อเป็นแหล่งรองรับน้ำท่วมฉับพลันที่มักจะเกิดขึ้นในวันที่ฝนตกหนัก รวมถึงการจัดระเบียบเสาไฟและสายไฟฟ้าต่างๆ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.จัดระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคใต้ดินให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง และจัดให้มีพื้นที่สำหรับซ่อมแซมบำรุงระบบสาธารณูปโภคในแนวเดียวกัน โดยกำหนดพื้นที่ติดตั้งให้ชิดอยู่ใกล้ทางเท้า และผสานให้อยู่แนวเดียวกับพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด 2.เมื่อมีแนวพื้นทางเท้าที่ไม่ต้องขุด โครงสร้างพื้นทางเท้าสามารถใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับถนนคนเดินสายหลักให้คงทน และปูกระเบื้องทับให้มีความสวยงาม 3.ขยายทางเท้าให้มีความกว้างอย่างน้อย 2.4 เมตร ตามมาตรฐานสากล โดยจัดระเบียบป้าย เสาไฟ พื้นที่สีเขียว ให้อยู่ในแนวเดียวกัน ทำฐานป้ายทุกป้าย ฐานเสาทุกอุปกรณ์บนถนนให้เรียบเสมอทางเท้า และปรับขนาดป้อมตำรวจให้มีขนาดเล็กลง 4.ปรับระดับทางเท้าให้สูงจากพื้นถนนไม่เกิน 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ชันเกินไป 5.กำหนดแนวปลูกต้นไม้ให้ชัดเจน เป็นแนวเดียวกับการติดตั้งสาธารณูปโภค เสาไฟ และป้าย นอกจากเพื่อความร่มรื่นแล้ว ยังให้เป็นพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) โดยปรับองศาทางเท้า เพื่อให้น้ำไหลลงพื้นที่ Rain Garden ไม่ท่วมขังบนทางเท้าเมื่อฝนตก 6.ทำทางเท้า สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่มีแผ่นทางเท้าคนพิการ (Braille Block) และทางลาดเชื่อมต่อทางเดินอย่างปลอดภัย โดยใช้กลยุทธ์หลัก 8 ข้อ คือ การย้ายสิ่งที่ไม่จำเป็นออก กำหนดระยะทางเท้า/ระยะผ่อนผัน ปรับระดับผิวทาง จัดระเบียบพื้นที่สีเขียว กำหนดจุดติดตั้งสาธารณูปโภค คำนึงถึงความปลอดภัย การเชื่อมต่อ และอัตลักษณ์ของพื้นที่ เพื่อให้ทางเท้าบริเวณถนนพระรามที่ 1 เป็นต้นแบบทางเท้า ที่สมบูรณ์ต่อไป
สำหรับโครงการปรับปรุงถนนพระรามที่ 1 ช่วงจากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ พื้นที่เขตปทุมวัน เริ่มต้น 1 ต.ค.64 สิ้นสุด 29 มี.ค.65 ระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน มีความยาว 1,010 เมตร รวมระยะทางไป-กลับ ความยาว 2,020 เมตร เขตทางกว้าง 29 - 29.50 เมตร ทางเท้ากว้างเฉลี่ย 5 เมตร รายละเอียดการปรับปรุง ประกอบด้วย ปรับปรุงคันหินและทางเท้า ปรับปรุงผิวจราจรแอสฟัลต์ ปรับปรุงโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบ Smart Lighting จำนวน 134 ต้น จัดระเบียบทางเท้าของหน่วยงานสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ปรับปรุงเกาะกลางถนน ปรับปรุงรั้วเหล็กกั้นคนข้าม การจัดทำทางลาดคนพิการตามรูปแบบมาตรฐาน และแก้ไขจุดที่ผู้พิการที่ใช้รถเข็นผ่านไม่ได้ ปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่าง และจัดระเบียบระบบสาธารณูปโภคใต้พื้นผิวทางเท้า และงานองค์ประกอบด้านภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึงสตรีทเฟอร์นิเจอร์ตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ปัจจุบันโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าว มีคืบหน้าร้อยละ 5.36 คาดว่างานทางเท้าบริเวณสยามแสควร์ ซอย 7 ถึงสยามแสควร์ ซอย 3 ระยะทาง 330 เมตร จะแล้วเสร็จก่อนปีใหม่ 2565 ส่วนงานทางเท้าบริเวณสยามแสควร์ ซอย 3 ถึงถนนราชดำริ และงานทางเท้าฝั่งสยามพารากอน ช่วงถนนพญาไทถึงถนนราชดำริ จะแล้วเสร็จช่วงสงกรานต์ 2565