xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เร่งเก็บกระทงทุกแหล่งน้ำ เริ่มตั้งแต่ 2 ทุ่ม จนถึงตี 5 คาดรู้ผลขยะ 7 โมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองปลัดฯ กทม. ลงพื้นที่ปากคลองโอ่งอ่าง-ใต้สะพานพระปกเกล้า ติดตามการจัดเก็บกระทง ปี 64 สั่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ไล่จัดเก็บ เริ่มตั้งแต่ 2 ทุ่ม จนถึงตี 5 ทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา คลอง บึงรับน้ำ และสวนสาธารณะ คาดรู้ผลจัดเก็บ 7 โมง วันที่ 20 พ.ย.

วันนี้ (19 พ.ย.) เมื่อเวลา 21.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการจัดเก็บกระทงในเทศกาลลอยกระทง ปี 2564 โดยมี นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมลงพื้นที่ ณ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ใต้สะพานพระปกเกล้า เขตพระนคร

รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในวันเทศกาลลอยกระทงของทุกปี กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร และสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนได้ลอยกระทง ร่วมด้วยสำนักการระบายน้ำ จัดเก็บในคลองและบึงรับน้ำที่รับผิดชอบ และ 50 สำนักงานเขต จะจัดเก็บในบริเวณพื้นที่ที่มีการจัดงานลอยกระทง โดยจะเริ่มจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น จากนั้นทุกหน่วยงานจะรวบรวมยอดปริมาณกระทงที่จัดเก็บได้มายังสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมแยกประเภทกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติและกระทงที่ทำมาจากโฟม เพื่อรายงานให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบในเวลาประมาณ 07.00 น.

สำหรับการจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดเจ้าหน้าที่จำนวน 172 คน เรือที่ใช้ในการจัดเก็บกระทง 39 ลำ เรือตรวจการณ์จำนวน 1 ลำ รถบรรทุกเทท้ายและรถตรวจการณ์จำนวน 15 คัน ด้านการกำจัดขยะกระทง หลังจากดำเนินการคัดแยกแล้ว จะนำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติส่งเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำไปกำจัดโดยการฝังกลบอย่างถูกวิธีที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สายไหม และหนองแขม หรือการเผาผลิตไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ตามประเภทวัสดุ โดยที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งย่อยสลายได้ง่ายมากขึ้น จากสถิติเมื่อปี 2556 ที่จัดเก็บกระทงจากวัสดุธรรมชาติได้ 87.54% เป็น 93.6% ในปี 2560 และเพิ่มขึ้นเป็น 96.4% ในปี 2563 และมีสถิติการใช้กระทงโฟมลดลง จาก 12.46% เมื่อปี 2556 เหลือ 6.4% ในปี 2560 และเหลือเพียง 3.6% ในปี 2563 นอกจากนี้ จากความร่วมมือในการลดขยะกระทง โดยใช้ 1 กระทงต่อ 1 ครอบครัว ทำให้ระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนกระทงลดลงดังนี้ ปี 2561 จัดเก็บได้ 841,327 กระทง ปี 2562 จัดเก็บได้ 502,024 กระทง และปี 2563 จัดเก็บได้ 492,537 กระทง

ทั้งนี้ ในปี 2564 กรุงเทพมหานคร ได้ขอความร่วมมือประชาชนลดจำนวนขยะกระทง โดยรณรงค์ลอยกระทง 1 ครอบครัว 1 กระทง และร่วมกันลดการใช้กระทงโฟมซึ่งย่อยสลายยากให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีการใช้กระทงโฟมอีกเลย เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดี ควบคู่กับการสืบสานประเพณีให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป




















กำลังโหลดความคิดเห็น