กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน การไม่ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานครที่ห้ามเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ในคืนวันลอยกระทง อาจได้รับบาดเจ็บผิวหนังไหม้ หูตึงถาวร และอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้
วันนี้ (19 พ.ย.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปีนี้ ตามที่กรุงเทพมหานครได้ประกาศห้ามจุดพลุ ปล่อยบั้งไฟ ตะไล โคมไฟ โคมควัน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง นั้น การเล่นประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยง นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแล้ว ผู้ที่เล่นประทัดเอง อาจได้รับอันตรายจากสารเคมี ได้รับบาดเจ็บจนถึงสูญเสียอวัยวะ และก่อให้เกิดอัคคีภัยตามมาได้ ซึ่งความร้อนของประทัดสามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้ หากสัมผัสหรือสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษ อาทิ สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต สารโปตัสเซียมไนเตรต สารแบเรียมไนเตรต สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หู ตา จมูก รวมทั้งระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะสารแบเรียมไนเตรต ที่มีพิษต่อตับ ม้าม เกิดอัมพาตที่แขน ขา และอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การจุดประทัดแต่ละครั้งอาจก่อให้เกิดเสียงที่มีระดับความดังสูงถึง 130 เดซิเบล เอ ทำให้เกิดอาการ หูตึงชั่วคราว แต่หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวรได้
“ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้มีการควบคุมการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิงของประชาชน โดยต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยรอบจนก่อให้เกิดเหตุรำคาญ หากมีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะหรือเอกชน จะมีโทษตามกฎหมายทั้งจำทั้งปรับ สำหรับร้านค้าหรือสถานประกอบการที่จำหน่ายประทัด พลุ ดอกไม้เพลิง เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภท 12 (14) โดยผู้ประกอบการจะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากราชการส่วนท้องถิ่นก่อนเริ่มดำเนินกิจการ และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบัญญัติท้องถิ่น กฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องด้วย หากพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว