xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตหลังโควิด-19 ที่ไม่เหมือนเดิม!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แม้บ้านเราจะเปิดประเทศไปได้ราวเดือนครึ่ง ผู้คนได้ออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น แม้จะกล้า ๆ กลัว ๆ แต่ก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไป พร้อมกับบรรยากาศหลายอย่างได้กลับฟื้นคืนมีชีวิตชีวาอีกครา

แม้จะสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ แต่ก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ดูแลความสะอาด และไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คงกลายเป็นวิถีใหม่ของการใช้ชีวิตของผู้คน

และก็พบว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป และอาจไม่เหมือนเดิม !

เรื่องแรก – ชอปปิ้งออนไลน์

เริ่มจากตัวเองที่เป็นคนปฏิเสธการซื้อของออนไลน์ แม้ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ลูกจะพยายามคะยั้นคะยอ แต่ก็ชอบที่จะไปเดินชอปปิ้งสัมผัสจับต้องเลือกสินค้าแบบละเมียด และได้ไปเดินเล่นกินลมชมบรรยากาศ จึงไม่สนใจเรื่องชอปปิ้งออนไลน์ เว้นแต่เวลาแม่อยากได้บางอย่างที่ไม่สามารถไปซื้อเองได้ ก็จะให้ลูกชายจัดการซื้อผ่านออนไลน์ให้

แต่ตั้งแต่เจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เข้าสู่โลกชอปปิ้งออนไลน์แบบจริงจัง เพราะพยายามลดการเดินทาง ก็กลับกลายเป็นว่า ปัจจุบันตัวเองได้กลายเป็นนักชอปปิ้งออนไลน์มือหนึ่งของครอบครัวไปซะแล้ว ถึงขนาดคนส่งสินค้าจำได้ และโทรหาเรียกชื่อจนคุ้นเคย

เรื่องที่สอง – การทำงานแบบ WFH

ยังสงสัยอยู่ว่าถ้าเจ้าโควิด-19 จากไป การประชุมผ่านออนไลน์จะจากไปด้วยไหม โดยส่วนตัวเชื่อว่าการประชุมรูปแบบออนไลน์จะได้รับการพัฒนาสารพัดโปรแกรม จนกลายเป็นรูปแบบการประชุมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และผู้คนจำนวนมากที่เคยชินกับการทำงานผ่านออนไลน์ ก็สามารถทำงานได้สัมฤทธิ์ผล จนไม่อยากกลับไปทำงานแบบเต็มเวลาที่ออฟฟิศ เพื่อนรุ่นน้องจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ด้วยเหตุผลว่าเจ้านายบอกว่าขอให้กลับไปทำงานที่บริษัทเต็มเวลา ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะวิถีการใช้ชีวิตแบบ WFH (Work From Home) ก็เหมาะกับบางลักษณะงาน ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ชีวิตส่วนตัวบางด้านกลับคืนมา และก็เชื่อมั่นว่าคนเราสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพถ้าแบ่งเวลาและบริหารจัดการได้ดี

เรื่องที่สาม – สามารถเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์

บนโลกออนไลน์มีทั้งข้อดีข้อเสีย อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันทำสิ่งใด ช่วงที่ได้มีโอกาส WFH ผู้คนจำนวนไม่น้อยได้มีโอกาสฝึกฝนตัวเอง หาโปรแกรม หาสิ่งที่ตัวเองสนใจเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมมากขึ้น ทำให้มีโอกาสได้เห็นศักยภาพของตัวเองด้านใหม่ ๆ หรือสามารถแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งก็หันมาใช้ช่องทางออนไลน์สร้างอาชีพใหม่ๆ ก็มีไม่น้อย

เรื่องที่สี่ – เปลี่ยนรูปแบบการใช้เงิน

ผู้คนเริ่มใช้เงินสดลดลง หันมาใช้การชำระเงินผ่านมือถือ ผ่านสารพัดแอพพลิเคชั่น แม้แต่กับตัวเองก็ใช้ช่วงเวลาสถานการณ์โควิด-19 จัดระบบการใช้จ่ายเงินของตัวเอง ยกเลิกบัตรเอทีเอ็ม ยกเลิกบัตรเครดิต ซึ่งลองสังเกตจะพบว่าบางทีเรามีสิ่งนั้น ๆ เพราะคนอื่นบอกว่าควรมี แต่เราจะพบว่าในชีวิตคนเรามีหลายสิ่งมากมาย ที่ท้ายสุดก็ไม่ได้ใช้ และในที่สุดแนวโน้มของผู้คนก็จะปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการชำระเงินผ่านมือถือมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกระแสโลก

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นผลพวงสร้างพฤติกรรมใหม่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะนับเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ขึ้นอยู่กับว่าเราวางและมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร จะปรับเปลี่ยนชั่วคราวหรือถาวร จะช้าหรือเร็วก็สุดแท้แต่รูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน

แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่กลายเป็นปัญหาเหมือนกัน โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ก็คือการเรียนออนไลน์

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับการศึกษาทุกระดับ

ในกลุ่มเด็กเล็ก ไม่เหมาะที่จะเรียนออนไลน์ เด็กไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นตามวัย ทำให้มีการพัฒนาของกล้ามเนื้อที่ลดลง ส่วนเด็กโต การเรียนการสอนในบางวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติ หรือสร้างทักษะบางด้านตามวัย ก็จะได้รับผลกระทบ และความสามารถในการเรียนรู้ก็ลดลง

สำหรับเด็กระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย แม้จะสามารถเรียนออนไลน์ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพในการเรียนลดลง ซึ่งเกิดจากทั้งความพร้อมของระบบ คน สื่อการเรียนรู้ ครูผู้สอน และผู้เรียน และสุดท้ายเด็กก็ต้องสูญเสียการเรียนรู้ไป

หรือแม้แต่กลุ่มเด็กพิการ หรือเด็กกลุ่มพิเศษที่ต้องการการเรียนการสอนแบบเฉพาะเจาะจง ก็ขาดโอกาสในการเรียนรู้เช่นกัน

นอกจากนี้เด็กในชนบท หรือเด็กยากจน ไม่เพียงไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์เท่านั้น แม้แต่การเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการยังยากเลย เมื่อเจอผลกระทบทางเศรษฐกิจของพ่อแม่ด้วย ทำให้มีเด็กจำนวนหนึ่งต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

ถ้าคิดในแง่ดีหลายปัญหาที่สะท้อนและกำลังส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวนมาก ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็น่าจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย และนำแนวทางการแก้ปัญหาที่หลายประเทศพยายามใช้อยู่บางประการมาปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับแนวทางการเรียนรู้ในบ้านเรา โดยถือโอกาสยกเครื่องบางประเด็นที่เคยเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข โดยมีโจทย์ในการพัฒนาเด็กที่ชัดเจนและให้เด็กเป็นตัวตั้ง

พูดภาษาง่าย ๆ คือ เมื่อเห็นปัญหาชัด อะไรที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม หรือล้าสมัยเกินไปแล้วก็ยกเลิก และถือโอกาสปรับแก้ปัญหาโดยยึดแนวทางสภาพปัญหาของบ้านเรา เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมต่อสถานการณ์และก้าวให้ทันโลกแห่งการเรียนรู้ของยุคสมัย

เพราะชีวิตหลังโควิด-19 อาจไม่เหมือนเดิม แต่ควรดีขึ้นมิใช่หรือ !
กำลังโหลดความคิดเห็น