ทุกวันนี้ความสำคัญของการเขียนด้วยมือหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ !
เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีจะพิมพ์ผ่านเครื่องมืออิเลคทรอนิคส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ จะคล่องแคล่วและรวดเร็วมาก
ขณะที่ผู้ใหญ่เองก็ใช้เขียนด้วยมือลดน้อยลง ถนัดจะใช้เครื่องมืออิเลคทรอนิคส์พิมพ์มากขึ้น ส่งผลให้การเขียนด้วยมือไม่คล่องแคล่ว ไม่ถนัด และไม่สวยงาม
Marc Jeffrey Seifer นักเขียนชาวอเมริกันที่ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์ลายมือ(Graphology) เชี่ยวชาญการเขียนด้วยลายมือ เจ้าของหนังสือ The Definitive Book of Handwriting Analysis ได้เล่าถึงประโยชน์ที่ได้จากการเขียนด้วยลายมือ
1. ช่วยให้จิตใจสงบลง โดยเขาแบ่งเวลา 20 นาทีต่อวัน เขียนเรื่องอะไรก็ได้ เช่น ตอนเช้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทบทวนเรื่องราวในแต่ละวัน เป็นต้น
2. ช่วยประสานสมองซีกซ้ายและขวาให้ทำงานเท่ากันได้ โดยการลงมือเขียนและใช้ภาษาจะช่วยให้สมองซีกซ้ายตื่นตัว ส่วนความโค้งและหยักของตัวอักษรคือสุนทรียะทางศิลปะที่สมองซีกขวา ซึ่งช่วยเสริมความคิดในการเขียนให้สมบูรณ์มากขึ้น
3. ช่วยเพิ่มทักษะความรู้และความเข้าใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กการเขียนด้วยลายมือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาทักษะทางด้านปัญญา ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน การเขียนด้วยลายมือจะทำให้ไตร่ตรอง คิด และมีวิจารณญาณกับสารที่ส่งออกไปมากขึ้น เพราะการเขียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จะเน้นที่ความรวดเร็วเป็นหลัก
4. ช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เพราะการเขียนด้วยลายมือมีกระบวนการความคิดและการลงมือที่ช้ากว่าการพิมพ์บนแป้นคีย์บอร์ดหลายเท่าตัว ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง จดจ่อกับสิ่งที่เขียน และมองภาพใหญ่ รวมถึงแตกย่อยความคิดและสิ่งที่เขียนได้กว้างขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจอีกมากมาย
5. ช่วยเพิ่มหน่วยความจำ เพราะจำได้ดีกว่าพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ การเขียนจะใช้สมองหลายส่วนมากกว่าการพิมพ์ การเขียนด้วยมือมีผลต่อความจำระยะยาวของมนุษย์ จึงเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเติบโต และผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ความคิดเป็นประจำ
ในขณะที่เด็กทุกวันนี้เขียนด้วยลายมือลดลงอย่างน่าใจหาย หันไปพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์กันหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กวัยประถม
ยิ่งประเภทสมุดคัดลายมือแบบสมัยก่อนแทบจะไม่มีให้เห็น
ทุกวันนี้การพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์ถือเป็นไฟท์บังคับที่ผู้คนต้องพิมพ์ได้ เด็กนักเรียนก็ต้องพิมพ์ได้ ทำงานส่งอาจารย์ก็ต้องพิมพ์ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์
จึงไม่แปลกที่ลายมือของเด็กยุคนี้ไม่ได้มีการประชันว่าของใครลายมือสวยกว่ากัน หรือการจดจำอัตลักษณ์ลายมือของแต่ละคนก็แทบจะไม่รู้กันแล้ว
และด้วยปัญหานี้หรือเปล่า จึงทำให้เด็กและเยาวชนรุ่นที่เติบโตมากับโลกเทคโนโลยี ขาดทักษะชีวิตและการพัฒนาสมองส่วนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
แม้จะมีงานวิจัยมากมายได้ออกมาระบุถึงความสำคัญของการเขียนหนังสือด้วยลายมือ ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก เพราะสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการรู้คิดของเด็ก ทั้งยังสร้างความมั่นใจในตัวเอง ทำให้มีผลการเรียนดีขึ้น มีทักษะด้านการอ่าน และช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งเป็นการฝึกฝนทักษะด้านการคิดอีกด้วย
เรื่องการเขียนหนังสือด้วยลายมือ เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทักษะทางภาษาของมนุษย์ ที่เริ่มจากการฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ด้วยปัจจุบันการเขียนถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการพิมพ์ มันจึงส่งผลต่อทักษะชีวิตของเด็กที่ได้จากการเขียนด้วยมือ ได้แก่
หนึ่ง – ช่วยพัฒนาสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของประสาทสัมผัส เช่น การกะระยะ ต้องใช้ความสามารถด้านความสัมพันธ์ของตา แขน และมือ หรือแม้แต่เด็กเล็ก การลากเส้นหรือระบายสีให้อยู่ในรูปภาพ รวมไปถึงความสามารถในการจำแนกตัวหนังสือกับตัวเลขหรือการเขียนให้อยู่ในเส้นบรรทัด
สอง – ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือทั้งมัดเล็กมัดใหญ่ ถ้าเด็กเล็กก็จะได้ฝึกการจับดินสอ การฝึกความถนัดของตัวเอง เพราะเด็กแต่ละคนก็จับดินสอไม่เหมือนกัน เมื่อเด็กที่ได้รับการฝึกฝนบ่อย ๆ จะเขียนได้คล่อง และสามารถพัฒนากล้ามเนื้อได้เต็มที่
สาม – ช่วยพัฒนาเรื่องการใช้ภาษา ได้ฝึกฝนเรื่องตัวสะกด เขียนได้คล่องขึ้น และจะทำให้มีคำคลังสะสมในสมองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งปัจจุบันการใช้คอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมในการช่วยสะกดคำด้วย ยิ่งถ้าเด็กใช้โปรแกรมนี้บ่อย ๆ จะทำให้ทักษะเรื่องภาษาไม่แข็งแรง
สี่ – ช่วยพัฒนาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เพราะการเขียนหนังสือทำให้เราได้ฝึกคิด วิเคราะห์ เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการของสมองตั้งแต่รับข้อมูล เรียบเรียง และถ่ายทอด ล้วนแล้วต้องใช้ทักษะการคิดทั้งสิ้น
แม้โลกจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่การเขียนด้วยมือไม่จำเป็นเหมือนแต่ก่อน
แต่การเขียนด้วยมือก็ยังคงประโยชน์มากมายอยู่เหมือนเดิม ไม่จำเป็นที่จะต้องทิ้งไปโดยสิ้นเชิง หากผสมผสานให้เหมาะสมกับยุคสมัย จะเป็นตัวช่วยเรื่องพัฒนาการที่ทรงคุณค่ายิ่ง
เด็กที่ยังเขียนด้วยมืออยู่ด้วยจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่ละเอียดและเติบโตทางความคิดแม้จะต้องอยู่ท่ามกลางยุคดิจิทัล