xs
xsm
sm
md
lg

“เอนก” ตั้งเป้าส่งยานโคจรรอบดวงจันทร์ใน 7 ปี ดันโปรเจกต์ TSC สำรวจอวกาศครั้งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอนก” ดันสุดลิ่มของดีกระทรวง อว. โครงการ TSC สำรวจอวกาศใหญ่ ตั้งเป้าโคจรรอบดวงจันทร์ใน 7 ปีข้างหน้า เชื่อไทยจะเป็นประเทศที่5ในเอเชียผลิตยานอวกาศไปดวงจันทร์ ระบุสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่หลายประเภทเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 100 ล้านล้านบาท เดินคู่ขนานพัฒนาคนได้ยอดเยี่ยมที่สุด

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวถึงโครงการ TSC หรือ Thai Space Consortium ภายใต้”โครงการ 12 เดือน 12 ดีกับรัฐมนตรีเอนก” ตอนหนึ่งว่า โครงการ TSC คือการสำรวจอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของไทย เป็นการโคจรรอบดวงจันทร์ใน 7 ปีข้างหน้า เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างโครงการอพอลโลทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างถาวร แม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ก็เป็นวิวัฒนาการ จากโครงการดังกล่าว วันนี้เราเข้าใกล้อวกาศทุกที เราใช้ประโยชน์จากอวกาศ สมัยก่อนต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ข่าวสารต่างประเทศ ต่อมามีการใช้ประโยชนอื่นๆ เช่น เราใช้ GPS จากดาวเทียม นอกจากนี้อวกาศยังเป็นอนาคตของมนุษยชาติ เป็นการสำรวจออกไปยังดาวเคราะห์ที่อื่น ไม่ใช่จำกัดที่โลกที่เดียว หลายปีก่อนนายอีลอนมัสต์พูดบ่อยว่ามนุษย์ตั้งอาณานิคมที่ดาวอังคาร ซึ่งมีทรัพยากรต่างๆมีความใกล้เคียงกับโลกมาก เรื่องนี้มีคนถามเยอะ ตนคิดว่าต้องมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ต้องเดินทางไปที่อื่น และการใช้ประโยชน์จากดาวอังคารยังคงมีอีกเยอะที่เรานึกไม่ถึง


ดร.ศรัณย์ กล่าวอีกว่าสำหรับโครงการ TSC ดาวเทียมดวงแรกที่เรากำลังออกแบบนั้น มีกาติดตั้งอุปกรณ์การถ่ายภาพ ไฮเปอร์สเปกตรัม (Hyper-spectral imaging) อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อติดตั้งกับดาวเทียมที่เรามีอยู่ก็จะสามารถใช้บ่งชี้การเพาะปลูกและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถจำแนกประเภทวิเคราะห์แก้ปัญหาของพืชได้ นอกจากนี้เราจะรู้ถึงทรัพยากรใต้พื้นโลก เป็นข้อมูลสำคัญการกระจายตัวทรัพยากร แหล่งน้ำ การเพาะปลูก ทั้งนี้เราสามารถพัฒนาดาวเทียมที่ใช้เรดาห์และทำงานในโหมดการแทรกสอดระยะไกลเราจะได้ภาพที่ทะลุเมฆได้ เรามีทีมงานที่มีความสามารถทางวิศวกรรมขั้นสูง อีก 10 ปี เราทำดาวเทียมที่จะมีความสามารถในการจัดการเชิงพื้นที่อย่างมหาศาล

“การไปดวงจันทร์ไม่ได้ไปเพื่อศักดิ์ศรี บนดวงจันทร์อาจจะมีทรัพยากรมหาศาล ถ้าเราสามารถส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ ทำการศึกษาเราจะมีข้อมูลอีกเยอะ ถ้าประเทศไทยจะเริ่มโครงการอวกาศนอกจากส่งดาวเทียมโคจรรอบโลก เราจะสำรวจอวกาศที่ห้วงลึก (Deep space) จุดแรกคือดวงจันทร์ เพราะเทคโนโลยีไม่ง่าย ต้องเรียนรู้ในเชิงเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ควบคุมและรู้ตำแหน่งของยานดาวเทียมได้ และเป้าหมายต่อไปคือดาวอังคาร โครงการต่างๆเหล่านี้เราไม่ได้โยนงบประมาณลงไปในอวกาศ แต่เราโยนงบประมาณใส่ไปในคน เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพของคนไทย อีกอย่างที่สำคัญคือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้มหาศาล”ดร.ศรัณย์ กล่าว


ดร.ศรัณย์ กล่าวด้วยว่านโยบายของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงอว.มีความมุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม เล็งเห็นว่าโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยพุ่งทะยานอันดับต้นๆได้ โดยตั้งเป้าไทยจะเป็นประเทศที่5ในเอเชียผลิตยานอวกาศแล้วไปโคจรรอบดวงจันทร์ ทั้งนี้การไปสำรวจดวงจันทร์ ประเทศไทยทำอะไรบ้าง ทีมวิศวกรหลายร้อยคนพัฒนาศักยภาพขึ้นมา เด็กฝึกงานมหาวิทยาลัยจะได้ประสบการณ์และพัฒนาไปด้วยกัน นักวิทยาศาสตร์จะได้ประโชยน์ของข้อมูล ที่ได้จากการสำรวจ วันนี้เรามีสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโซต(ศรีราชา) ดาวเทียมไทยคม และมีดาวเทียมธีออส (THEOS) ดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกลเพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย และกำลังจะส่งดวงต่อๆไป ขณะเดียวกันยังมีดาวเทียมแนคแซท ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดาวเทียม BCCSAT-1 ดวงแรกของเด็กไทย จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

ที่สำคัญมีการประมาณกันว่าเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการอวกาศไม่กี่ปีข้างหน้ามีมูลค่าถึง 100 ล้านล้านบาท เรามีหน่วยงาน แต่เรายังขาดต้นน้ำ คือการออกแบบสร้างอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยเกิดสตาร์ทอัพ ขึ้นมาหลายประเภท เพื่อที่จะผลิตชิ้นส่วนต่างๆในการสร้างยานอวกาศ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้เยอะมาก ถ้าเกิดเราสร้างเศรษฐกิจของเราในอุตสาหกรรมอวกาศนี้ จะสามารถพัฒนาคนได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีโครงการอวกาศเพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศซึ่งทำมูลค่าได้มหาศาลอีกด้วย.




กำลังโหลดความคิดเห็น