xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้าไทย เป็นฐานผลิตเวชภัณฑ์จากกัญชาทางการแพทย์ระดับ WORLD CLASS ! “อนุทิน” พร้อมลงนาม MOU ไทย-นานาชาติ วางไทยเป็น HUB ระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (28 ต.ค.) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ทางกรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข จะขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ให้สอดคล้องกับนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไปจนถึงพัฒนาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมามีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมหลายอย่าง ทั้งการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศ ไปจนถึงการอนุญาตให้ประชาชนผลิต และนำไปใช้เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ซึ่งขวบปีที่ผ่านมา มูลค่าของสินค้าที่เกี่ยวข้องพุ่งสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งเดินหน้านโยบายสำคัญโดยเฉพาะการให้ประเทศไทยเป็นฮับการแพทย์ และกัญชาทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ ซึ่งไทย มีเป้าหมายว่าจะเป็นฐานการผลิตยาจากกัญชา และคุณภาพของสินค้า ต้องได้รับการยอมรับในระดับโลก ต้องเป็น World Class นอกจากนั้น ยังหวังให้กัญชาทางการแพทย์ของไทย เป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไปจนถึงช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

งานลงนามที่จะเกิดขึ้นนี้ ได้รับเกียรติจากนายอนุทิน มาเป็นประธานเปิดงาน ในงาน เราจะได้เห็นทิศทางของนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการแพทย์ และเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังมีนักวิจัยไทย และในระดับนานาชาติ มานำเสนอความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยประเภทต่างๆ อาทิ Dr.Mara Bilibajkich แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ ประเทศแคนาดา, เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี , แพทย์หญิงอาภาศรี ลุสวัสดิ์ สถาบันประสาทวิทยา , แพทย์หญิงชนิศา เกียรติสุระยานนท์ สถาบันโรคผิวหนัง

“นับตั้งแต่กระทรวงขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เรามั่นใจว่า มาถูกทาง เป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์ ที่ผ่านมา ยอดการเข้าใช้บริการทางการแพทย์ แผนกัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในทุกวันมีการขออนุญาต นำกัญชาทางการแพทย์ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า สะท้อนถึงความตื่นตัวของภาคประชาชนที่มีต่อกัญชาทางการแพทย์ ภาพลักษณ์ของกัญชา ทางการแพทย์เปลี่ยนไป คนไทยเข้าใจประโยชน์ของพืชชนิดนี้มากขึ้น ที่สำคัญ คือ ประเทศไทย เรามีศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (IMCRC) ที่ทําร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐและ กลุ่มแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ จึงถึงเวลาที่เราจะต้องแสดงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมเป็นแหล่งความรู้ด้านการวิจัย การสกัด และเป็นฐานใน การผลิต พัฒนายาจากกัญชาระดับโลก ให้นานาชาติ ได้เห็นความพร้อมของไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย กลายเป็นจุดดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ที่เป็นไปตามแนวทางของท่านรัฐมนตรีอนุทิน”


กำลังโหลดความคิดเห็น