“เอนก”สั่ง อว.ผลิตกำลังคนที่มีทักษะตอบสนองเป็นพิเศษต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมพร้อมพลิกโฉมมหาวิทยาลัยทุกด้านให้จบออกมาทำงานได้ทันที ตั้งเป้า 16 ปี ไทยเริ่มออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง
วันนี้ (26 ต.ค.) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงนโยบายการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว.หลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการระบบพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ระหว่าง สำนักงานปลัด อว. กับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีกำลังคนที่ทันโลก มีฐานทรัพยากรที่หลากหลาย และมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ การลงนามบันทึกข้อตกลง ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพื่อเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรกำลังคนที่จะมีความสามารถอย่างแท้จริงตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในอนาคต นั่นคือโอกาสสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านทั้งเทคโนโลยีด้านนวัตกรรม ซึ่งด้านทรัพยากรหรือกำลังคนสมรรถนะสูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเป็นองค์ประกอบหลักต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการ ดังนั้น การผลิตกำลังคนที่มีทักษะตรงกับความต้องการอย่างเป็นระบบ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถดึงดูดการลงทุนทั้งในภาคการผลิตและบริการได้ โดยหากประเทศไทยสามารถสร้างระบบการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้จะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดมาตรการการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"อว.พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการทำในสิ่งที่ตอบสนองต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ อว. ได้ปวารณาตัวว่าจะเป็นกลไกลหลักในการขยับไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ภายใน 16 ปีข้างหน้า และภายใน 10 ปีนี้ อว. จะมีเครื่องมือและสรรพกำลัง มีแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นเลิศทั้งด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สิ่งที่ อว. จะเร่งทำต่อไปคือการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย ทั้งด้านการเรียนการสอนแบบใหม่ การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ก้าวหน้า รวมถึงการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญสูง จบออกมาใช้งานได้ทันที พร้อมยังสนับสนุนในทุกด้าน สิ่งใดที่ติดขัด เป็นข้อจำกัด ที่จะให้การทำงานลำบาก ก็พร้อมให้ใช้กระบวนการแซนด์บอกซ์ ตนหวังว่าการลงนามในวันนี้จะไม่เป็นเพียงการร่วมมือระยะสั้น แต่จะกลายเป็นการสร้างระบบการจัดการทรัพยากรกำลังคนที่มีคุณภาพของประเทศที่จะเกิดขึ้นต่อไปอย่างมากมายในอนาคต" ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว