ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดข้อไหล่ ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการใช้งานข้อไหล่ในชีวิตประจำวันลดลง เช่น การสระผม การหวีผม การอาบน้ำ การเอื้อมหยิบของ และการใส่เสื้อผ้า เป็นต้น และอาจนำไปสู่ความทุพพลภาพได้
นพ.ลพบุรี นาทะสิริ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า สาเหตุหลักของภาวะนี้สามารถเกิดได้จากการบาดเจ็บ (Injury) และความเสื่อมสภาพ (Degeneration) กรณีที่มีการบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดไหล่หรืออ่อนแรงบริเวณข้อไหล่ หลังจากมีประวัติอุบัติเหตุ และกรณีที่มีการบาดเจ็บซ้ำๆ ของข้อไหล่จากการใช้งาน ซึ่งจะพบได้ในกลุ่มที่มีการใช้งานข้อไหล่เป็นประจำ (Repetitive use) โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องทำเหนือศีรษะ (Overhead activity) ซึ่งจะพบในกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างทาสี ช่างไม้ หรือกลุ่มนักกีฬาบางชนิด เช่น เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล และเบสบอล เป็นต้น กรณีที่เกิดจากความเสื่อมสภาพ อาจเกิดได้ทั้งส่วนของเส้นเอ็นหรือส่วนของข้อไหล่ โดยพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีอาการเรื้อรังมาระยะหนึ่งแล้วมีอาการมากขึ้นหลังจากมีประวัติอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง หรือ หลังจากที่มีการใช้งานข้อไหล่
ทำความรู้จักข้อไหล่
ข้อไหล่เป็นข้อต่อที่ใหญ่รองจากข้อเข่าและข้อสะโพก ประกอบด้วยกระดูกต้นแขน (Humerus) กระดูกสะบัก (Scapula) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) มีลักษณะที่คล้าย ลูกบอลที่วางอยู่ในถ้วยตื้น (Ball and socket joint) หรือลูกกอล์ฟที่วางอยู่บนแท่นที โดยข้อไหล่จะมีส่วนที่ให้ความมั่นคงแก่ข้อไหล่ที่อยู่กับที่ (Static Stabilizers) เช่น กระดูกและเส้นเอ็น รวมถึงเยื่อหุ้มข้อไหล่ (Capsule) และส่วนที่เคลื่อนไหว (Dynamic Stabilizers) เช่น กล้ามเนื้อต่างๆ รอบข้อไหล่ รวมถึงเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อข้อไหล่ (Rotator cuff)
เส้นเอ็นข้อไหล่ (Rotator cuff)
เส้นเอ็นข้อไหล่ประกอบขึ้นจากมัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น 4 มัด ที่เกาะจากกระดูกสะบักทั้งด้านหน้าและด้านหลังมายังบริเวณส่วนหัวของกระดูกต้นแขน ทำหน้าที่ให้ความมั่นคงกับข้อไหล่ ช่วยในการยกหัวไหล่ บิดหัวไหล่เข้าด้านในและออกด้านนอก และยังช่วยในการรักษาสมดุลของตำแหน่งของหัวกระดูกต้นแขน
ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator cuff tear) อาจเกิดจากการบาดเจ็บ (Injury) หรือมีการอักเสบที่บริเวณเส้นเอ็นข้อไหล่ (Tendinopathy) โดยกรณีที่เป็นความเสื่อมสภาพ ผู้ป่วยจะมีความแข็งแรงของเส้นเอ็นที่ลดลง รวมถึงอาจจะมีหินปูนที่เกาะอยู่ทั้งในเส้นเอ็น (calcific tendinitis) หรือเกาะอยู่ที่บริเวณกระดูกสะบักส่วนปลาย (Acromial spur) ทำให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อไหล่เพิ่มมากขึ้นได้
หลังจากนั้นก็จะมีการฉีกขาดบางส่วนของเส้นเอ็นข้อไหล่ (Partial Thickness Tear) จนกระทั่งฉีกขาดตลอดความลึก (Full Thickness Tear) หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ขนาดของการฉีกขาดใหญ่มากขึ้น มีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหลายเส้น มีการหดรั้งของเส้นเอ็นไปด้านใน รวมถึงมีการฝ่อของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ ทำให้สูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอย่างถาวร ซึ่งนำไปสู่การเสียสมดุลของข้อไหล่จนทำให้มีข้อไหล่ติดและข้อไหล่เสื่อมในที่สุด
การวินิจฉัย
ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด จะวินิจฉัยโดยอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพรังสี (X-ray) และการตรวจภาพรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI; Magnetic Resonance Imaging) ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดตื้อในหัวไหล่ อาจมีอาการปวดในตอนกลางคืนร่วมด้วยและรบกวนการนอนหลับ ถ้าเป็นมากอาจมีอาการอ่อนแรงของแขน ซึ่งทำให้การใช้งานข้อไหล่ทำได้ยากมากขึ้น และส่งผลต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องทำเหนือศีรษะ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรมาปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแนวทางในการดูแลรักษาต่อไป
การรักษา
แบ่งออกเป็นการรักษาแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด โดยการรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะเป็นการรักษาแรกเริ่มในผู้ป่วยทุกราย ยกเว้นในกรณีที่มีการฉีกขาดเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ ซึ่งมักได้ผลดีจากการผ่าตัดมากกว่า เป้าหมายหลักคือการลดอาการปวด เพิ่มองศาในการขยับของข้อไหล่ เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ และปรับสู่การใช้งานของผู้ป่วยแต่ละคน โดยจะมีการรักษา เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกิจกรรมที่ทำ การใช้ยาแก้ปวด การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณช่องว่างใต้กระดูกสะบัก (Subacromial space) และการทำกายภาพบำบัด หากทำการรักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือคนไข้มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดชัดเจน แพทย์จะแนะนำให้คนไข้เข้ารับการผ่าตัด โดยการผ่าตัดหลักคือการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นที่มีการฉีกขาดโดยการส่องกล้อง ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน แต่หากมีการฉีกขาดที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ก็อาจมีแนวทางในการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การซ่อมแซมเส้นเอ็นบางส่วน การผ่าตัดย้ายเส้นเอ็น การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อส่วนอื่นมาทดแทนเส้นเอ็น และการเปลี่ยนข้อไหล่เทียม เป็นต้น
การดูแลรักษาหลังผ่าตัด
ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด โดยหากเป็นการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็น ผู้ป่วยจะต้องใส่ที่คล้องแขนหลังจากผ่าตัดอย่างน้อย 4 -6 สัปดาห์ ระหว่างนั้นจะมีโปรแกรมกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยกลับไปทำเองที่บ้าน เพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ป้องกันไม่ให้มีข้อไหล่ติด รวมถึงการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้งานข้อไหล่ได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการให้บริการด้วยมาตรฐานคุณภาพ พร้อมด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ทำให้การรักษาสามารถทำได้อย่างครบวงจรและระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วและปลอดภัยขึ้น