xs
xsm
sm
md
lg

นพรัตนฯ ใส่ใจอาการหลังจากติดเชื้อ COVID-19 และการกลับเข้าทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ห่วงใยอาการหลังจากติดเชื้อ COVID-19 และการกลับเข้าทำงาน โควิด-19 รักษาหายแล้ว แต่ทำไมยังป่วยอยู่ หลายคนมีข้อสงสัย เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วบางราย ยังรู้สึกมีอาการหลงเหลือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มที่มีอาการอาจจะมีอาการตั้งแต่ 1 เดือน หรือมากกว่า 4-6 สัปดาห์ จะเป็นอาการที่เรียกว่า Post Covid Syndrome หรือ Long COVID คือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19

วันนี้ (18 ต.ค.) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการ long COVID จะออกมาในรูปแบบหลายอวัยวะด้วยกัน คือ มีอาการ โดยมีทั้งอาการทั่วไป ได้แก่อาการเหนื่อยหรือล้าไม่มีแรง คิดอะไรไม่ออก ไม่มีสมาธิ (brain fog) ปวดศีรษะ ไม่ได้กลิ่นหรือไม่รู้รส มึนงงเวลายืน ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว และแรง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หายใจถี่ๆ ไอ เจ็บข้อหรือกล้ามเนื้อ ซึมเศร้า วิตกกังวล มีไข้ โดยอาการจะแย่ลงหลังจากออกแรงหรือใช้สมองคิด นอกจากนี้ยังเกิดอาการในหลายอวัยวะจากการอักเสบหลายตำแหน่ง เช่นที่หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ ระบบประสาท ตามมา ซึ่งการตรวจพิเศษจะไม่พบอะไร แต่ก็ทำให้แยกโรคที่เป็นควบคู่กันได้ การที่คนทำงานมีอาการเหล่านี้ และมีการเหนื่อยเพลียอย่างมากหลังติดเชื้อเป็นเวลานานหลังเป็น COVID ทำให้ต้องนึกถึง long COVID และมีวิธีจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป

นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า หลังติดเชื้อ COVID ผู้ป่วยยังมีอาการหลงเหลือแม้ว่าจะหายจากโรคแล้ว ซึ่งก็พบได้ในการติดเชื้อไวรัสทั่วไปเช่นกัน เช่นไข้หวัดใหญ่ แต่อาการหลัง COVID จะมีผลมากกว่าโดยเฉพาะเมื่อต้องกลับเข้าทำงาน สถาบันความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศอังกฤษได้ให้คำนิยามอาการเหล่านี้เป็นสองสามลักษณะตามระยะเวลาหลังจากหายจากการติดเชื้อ คือ อาการ COVID-19 เฉียบพลัน มีอาการตั้งแต่ติดเชื้อต่อเนื่องได้จนถึง 4 สัปดาห์ อาการ COVID-19 ต่อเนื่อง (Ongoing symptomatic COVID-19) คือมีอาการและอาการแสดงต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 12 หลังเป็นโรค และ กลุ่มอาการหลัง COVID-19 คือมีอาการและอาการแสดงที่มีขึ้นหลังติดเชื้อและคงอยู่มากกว่า 12 สัปดาห์โดยไม่อาจวินิจฉัยได้เป็นอย่างอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกรวมกันว่า long COVID สาเหตุคาดว่าเกิดจากการแข็งตัวของเลือดและการทำหน้าที่ของเยื่อหุ้มเซลล์ เสียไป ทำให้เกิดเกร็ดเลือดอุดตันทั่วไป และมีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่มาทำลายร่างกายตัวเอง องค์กรอนามัยโลกยอมรับว่ามีโรคนี้โดยกำหนดรหัสโรค (ICD) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าอาการของ Long COVID พบได้มากถึง 10-30% ของผู้ป่วย โดยไม่จำกัดอายุ หรือความรุนแรงของโรค ทั้งนี้จะอยู่ในช่วงวัยทำงาน 40 ปี ซึ่งจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจต่อไป ตอนนี้มีกลุ่มคนวัยแรงงานติดโรคกันมาก ถ้าเรามีคนวัยทำงานติดเชื้อ 300,000 คนน่าจะมีคนที่มีอาการ long COVID 30,000 คน ยังไม่นับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอีก ในการนี้สถาบันอาชีวเวชศาสตร์ฯ กรมการแพทย์ จะจัดทำแนวทางการกลับเข้าทำงานในคนงานที่เป็น COVID โดยจะครอบคลุมอาการ long COVID ด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น