ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย พายุ "คมปาซุ" อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพล ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ สถานบริการสาธารณสุขมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบน้ำท่วมเพิ่มเป็น 1,654 แห่ง ใน 26 จังหวัด กำชับให้เตรียมพร้อมรับมือ จัดหน่วยแพทย์ออกให้บริการประชาชน ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมจาก "เตี้ยนหมู่" และ "ไลออนร็อก" ยังมีใน 12 จังหวัด
วันนี้ (15 ตุลาคม 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย ว่า แม้ขณะนี้พายุดีเปรสชัน "คมปาซุ" ที่อยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงยังมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง 26 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี นครนายก สุพรรณบุรี นครปฐม จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ระนอง พังงา และสุราษฎร์ธานี รวมสถานบริการสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ 1,654 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 18 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 110 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ 7 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 20 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 87 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 1,412 แห่ง
"ขอให้พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบสำรองไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการประชาชน สำรองยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ และเฝ้าระวังผลกระทบด้านโรคและภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น ออกหน่วยบริการทางการแพทย์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษา" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุ "เตี้ยนหมู่" ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัด 46 อำเภอ รวม 90,348 ครัวเรือน ส่วนน้ำท่วมจากพายุ "ไลออนร็อก" มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด 8 อำเภอ รวม 5,427 ครัวเรือน ภาพรวมมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 132 ราย เสียชีวิต 62 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 145 แห่ง เปิดให้บริการตามปกติ 119 แห่ง เปิดให้บริการบางส่วน 17 แห่ง และปิดให้บริการ 9 แห่ง ทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 355 ทีม ให้บริการประชาชนและผู้ประสบภัยรวม 454,209 ราย ประกอบด้วย เยี่ยมบ้าน 114,813 ราย แจกยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 98,196 ราย ให้สุขศึกษา 85,756 ราย และให้บริการตรวจรักษา 92,281 ราย ส่วนการประเมินสุขภาพจิต 63,163 ราย พบภาวะเครียดระดับมากขึ้นไป 433 ราย เสี่ยงภาวะซึมเศร้า 49 ราย และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 5 ราย มีทีมสุขภาพจิต MCATT ในพื้นที่ให้การดูแล