ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย จ.อ่างทอง ระดับน้ำเริ่มลด มี รพ.สต.ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2 แห่ง แต่ไม่กระทบจุดฉีดวัคซีนโควิด สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อเนื่อง เตรียมพร้อมดูแลประชาชนและผู้ประสบภัย ส่วนสถานการณ์โควิด-19 สามารถควบคุมโรคได้ดี ผู้ติดเชื้อลดลงเหลือวันละ 20-30 ราย กำชับเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่ โรงพยาบาลอ่างทอง จ.อ่างทอง นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม การควบคุมโรคโควิด-19 และการจัดบริการฉีดวัคซีน
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ 47 ตำบล 219 หมู่บ้าน 5,116 หลังคาเรือน รวม 15,328 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับผลกระทบ 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาประชาชน โรคที่พบบ่อยคือ น้ำกัดเท้า 417 ราย อาการระบบกล้ามเนื้อและกระดูก 332 ราย และระบบผิวหนัง แพ้ ผื่นคัน 217 ราย มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 2 แห่ง คือ รพ.สต.ป่าโมก และ รพ.สต.บ้านเลน แต่ยังให้บริการได้ ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ และจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้รับผลกระทบ
"ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ประมาณ 9 เมตร หากระดับน้ำขึ้นสูงถึง 10 เมตร โรงพยาบาลอ่างทองจะมีความเสี่ยงถูกน้ำท่วม ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์แล้ว ทั้งเฝ้าระวังปิดจุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยเฉพาะระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เตรียมเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไว้ที่ปลอดภัย สำรองออกซิเจน เชื้อเพลิง ยา เวชภัณฑ์ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด 23 ราย โดยผู้ป่วยสีแดงจะส่งต่อโรงพยาบาลสระบุรี และสีเหลืองส่งต่อโรงพยาบาลชุมชน พร้อมออกหน่วยดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จัดส่งยาถึงบ้าน และเปิดโรงพยาบาลสนามดูแลผู้ป่วย" นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 จ.อ่างทอง มีแนวโน้มลดลง พบผู้ติดเชื้อวันละ 20-30 ราย ใช้ระบบการดูแลรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) มีทั้งหมด 35 แห่งใน 7 อำเภอ รวม 1,268 เตียง ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงที่รักษาในโรงพยาบาลลดลงต่อเนื่อง โรงพยาบาลอ่างทองมีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเหลือ 2 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 ฉีดได้ 96,154 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.96 ของประชากร กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้วร้อยละ 47.22 กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี แสดงความประสงค์ 16,762 คน ฉีดแล้ว 2,000 กว่าคน ได้กำชับให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย ร้อยละ 50 ในสิ้นเดือนตุลาคม รวมถึงเฝ้าระวังการติดเชื้อ เน้นการตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงด้วย ATK เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่