อว.เร่งดัน BCG แจ้งเกิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หนึ่งในของดีกระทรวง อว. “12 เดือน12 ดี” ผอ.สวทช.ชี้ข้อดีไทยมีความหลากหลายทางพันธ์ุพืช แต่ต้องรู้ใช้วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีเข้าช่วย เชื่อเกษตรกรได้ประโยชน์เต็มๆ
กรณีรัฐบาลได้ประกาศให้การขับเคลื่อนประเทศด้วย BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เป็นวาระแห่งชาติ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งทำงานร่วมกัน โดยมุ่งบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของการผลิตในแต่ละสาขา เพื่อสร้างคุณค่าจากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยนั้น เมื่อวันที่ 8 ต.ค.64 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) กล่าวถึงกรณีที่ อว.ผลักดันให้เกิด BCG เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ และถือเป็นหนึ่งในนโยบายภายใต้โครงการ “12 เดือน 12 ดี กับ รัฐมนตรีเอนก” ตอนหนึ่งว่า การพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) ส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle)
ทุกวันนี้สิ่งที่เราใช้ประโยชน์จริงๆ จากภาคเกษตรเหลือแค่ประมาณ 70% อีก 30% คือทิ้งระหว่างทาง สิ่งที่หายคือเราใส่แรงงานคนเข้าไป ใส่ต้นทุนการผลิตเราใช้พื้นที่ประเทศไทยทั้งหมดเราทำเพื่อไปโยนทิ้ง สิ่งที่แย่ลงคือ 30% กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงกลับมาดูทั้งระบบว่าเราจะจัดการอย่างไรตั้งแต่ต้นทางให้มีเมล็ดพันธุ์ที่ดี ข้อดีของประเทศไทยคือมีความหลากหลายสูงมาก มีพ่อแม่พันธ์ุเยอะมาก เราก็นำมาผสมผสานกันเกิดเป็นพันธุ์ใหม่ นี่คือ BCG ในระดับต้นทาง หากเรามีการปรับปรุงพันธุ์ที่ดี พันธุ์มีความเหมาะสม พี่น้องเกษตรกรก็จะมีจุดเริ่มต้นที่ดี เข้าถึงพันธุ์ที่มีคุณภาพ สามารถลดต้นทุนได้อีกด้วย แต่เราต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งกระบวนการในการปรับปรุงให้เหมาะสม มีการผลิตพันธุ์เพียงพอสำหรับเกษตรกร เข้าถึงปัจจัยการผลิตที่ดีมีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐาน จะทำให้พี่น้องเกษตรกรที่เข้าถึงปัจจัยการผลิตที่ดีจะได้ผลผลิตที่ดี และการบริการจัดการที่ดี ถ้าเราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ พี่น้องเกษตรกรจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น โดยสามารถลดต้นทุนเกษตรกร 172.5 ล้านบาท ลดการนำเข้าสารเคมีเกษตร 241.5 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากเราเป็นประเทศเกษตรก็ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรมากกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ในส่วนของทางด้านอาหารที่มีการแปรรูปต่อ หรือ อาหารสตรีทฟู๊ด อาหารริมทาง สิ่งเหล่านี้อยู่กับคนไทยมาโดยตลอดปัญหาคือคุณภาพ ในแง่ความสะอาด การปนเปื้อน เชื้อที่ก่อโรค เพราะฉะนั้นถ้าเราบริหารจัดการที่ร้านอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม มีร้านสะอาดเพียงพอ ถ้าเราจัดการทั้งระบบก็จะส่งผลที่ดีต่อทุกคนที่เป็นพี่น้องเกษตรกรและผู้บริโภค ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การลงทุนแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาของการจ่ายเพื่อชดเชย หรือการจ่ายเพื่อการรักษา เพราะเชื่อว่าด้วยเม็ดเงินเท่ากันหากมีการบริหารจัดการที่ดีจะเกิดความยั่งยืนประโยชน์ก็จะเกิดกับทุกคน ขณะเดียวกันด้านการแพทย์สาธารณสุข มิติอื่นๆ ทำอย่างไรให้พี่น้องคนไทยเข้าถึงยารักษาโรคกลุ่มชีวภาพ ขณะที่เรามียารักษาโรคที่มาจากกลุ่มชีวภาพ ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เป๋นรากฐานจากสิ่งที่มี เรามีความสามารถในการใช้สมุนไพรหลายมิติ รวมไปถึงในเรื่องของอโรมา น้ำหอม สปา การจับการนวดเส้น รวมไปถึงใช้ในเรื่องสมุนไพรเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้เป็นศาสตร์ เป็นรากฐาน ที่เราสามารถทำได้ เราก็จะมีสินค้าใหม่ๆ นวัตกรรม สิ่งเหล่านั้นก็มาทำเป็นสี สีผสมอาหาร เราสามารถสิ่งที่เราเรียกว่า Flavour หรือวัตถุปรุงแต่ง เช่น กลิ่น รสสัมผัส ฯลฯ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัตถุดิบเยอะมากๆ แต่เราไม่หยิบขึ้นมาทำเป็นธุรกิจ
ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ถ้าถามว่าความพร้อมของเราเป็นอย่างไร การให้การศึกษา การควบคุมคุณภาพ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ดังนั้นภาครัฐต้องช่วยกันส่งเสริม เอกชนต้องลงทุน และทำด้วยความสร้างสรรค์ จะเกิดประโยชน์นี่คือเป้าหมายหลักของ BCG คือต้องการให้เกิดความร่วมมือแบบจตุภาคี ทุกภาคส่วนมีบริบท มีภารกิจที่ต้องทำงานร่วมกัน ทุกคนในประเทศสามารถช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิด BCG ได้ สร้างคุณภาพชีวิต สร้าง GDP ให้กับประเทศได้ และเชื่อว่าหลังโควิด-19 เราจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็ว เพราะเราใช้สิ่งที่เรามี ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ แรงงานภาคเกษตร อาหาร ความหลากหลาย วัฒนธรรม ฯลฯ เพียงแต่เราต้องรู้จักบริหารจัดการ คิดใช้ประโยชน์ และสร้างนวัตกรรมจากสิ่งเหล่านี้ คำตอบง่ายๆของ BCG คือ ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมเป็นจุดเริ่มต้น เทรนด์ของโลกมันเปลี่ยนนำไปสู่พื้นฐานชีวภาพ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบอย่างเต็มที่ เราเชื่อว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จาก BCG ในแง่ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว คือ 1.พัฒนากลไกการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ 2. พัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว 3.พัฒนาบุคลากรด้านการจัดการ การท่องเที่ยว
“ถ้าเรารู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ และใส่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรายังบริหารจีดการไม่ดีพอ เรามีทรัพย์ ขาดความสามารถในการใช้ทรัพย์สิน แต่เรากลับใช้จ่ายเพื่อการชดเชย เราต้องเปลี่ยนจากการชดเชย เป็นการลงทุนหวังผลจากการลงทุนโดยใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ BCG จึงดูแลโดยกระทรวง อว.”ดร.ณรงค์ กล่าว.