xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ ‘ผ้าทอลายผ้าไทย’ เมื่อ ‘ภูมิปัญญา’ ถูกตีความใหม่ ผลงานครีเอทีฟของ ‘เด็กธรรมศาสตร์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความงดงามที่ธรรมชาติเป็นผู้สรรค์สร้างขึ้น ถูกนำมาหลอมรวมเข้ากับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย ก่อกำเนิดเป็นชิ้นงานอันทรงพลัง และเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สืบสานต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ

ในวันที่โลกรวมเป็นหนึ่ง เยาวชน-คนรุ่นใหม่มีความคิดเชื่อมร้อยกับสากล “ความเป็นไทย” จึงถูกตีความในมิติที่แตกต่างออกไป หากแต่ยังคงธำรงรักษาไว้ ซึ่งแก่นสานและรากฐานที่ข้ามผ่านกาลเวลาจากยุคมาสู่ยุค

น.ส.เปมิกา เพียเฮียง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรม สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
เช่นเดียวกับผลงาน “โครมาโทกราฟี” ผ้าลายไทย 33 เฉดสี ผลงานการออกแบบของ “น้องฟ้า” - น.ส.เปมิกา เพียเฮียง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรม สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ได้นำ ‘ทรัพย์ในดิน’ ต้นทุนของประเทศไทยที่มีอยู่ดั่งเดิม ประยุกต์เข้ากับความคิดสมัยใหม่

จนสามารถคว้า “รางวัลชนะเลิศ” การประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากล เพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2021) ประเภท “สิ่งทอสร้างสรรค์” ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (สวธ.) มาได้

น้องฟ้า เล่าว่า โครมาโทกราฟี เป็นผลงานต่อยอดจากการทำธีสิส (Thesis) ผ้าทอทวิต ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการยกระดับการศึกษาให้ลงลึกไปในรายละเอียดอีกขั้นหนึ่ง เพื่อสร้างเส้นใยและออกแบบลายผ้าที่มีความแตกต่าง ล้ำสมัย โดยตั้งต้นจากเส้นใยแต่ละภูมิภาคที่มีความโดดเด่นอยู่แล้ว เช่น เส้นใยขนแกะจาก จ.แม่ฮ่องสอน เส้นใยไหมอีลี่จาก จ.ขอนแก่น เส้นใยเปลือกไหมจาก จ.เพชรบูรณ์ เส้นไหมหลืบและฝ้ายขิดมือจาก จ.ศรีสะเกษ และยังมีการผลิตเส้นใยแฟนซีขึ้นมาใช้ในการทอเองด้วย

สำหรับแนวคิดการออกแบบผ้าทอผืนนี้ มาจากประสบการณ์สมัยประถม ที่คุณครูให้ทดลองแยกสีด้วยการนำปากกาเคมีสีดำจุดลงไป 1 จุด ซึ่งจะพบว่ามีสีแดง-น้ำเงิน-เหลือง กระจายออกมา และหากเรียนทางด้านศิลปะจะทราบว่า หากนำทั้งสามสีนี้มาผสมกัน ก็จะกลายเป็นสีดำเช่นกัน

นี่เป็นแนวคิดตั้งต้นในการย้อมเส้นใยให้เป็นสีดำจากธรรมชาติ จากนั้นได้มีการนำสีจากธรรมชาติเข้ามาประยุกต์ เป็นการใช้หลักองค์ประกอบสีเข้ามาในการทำงาน ทำให้ผ้าทอ “โครมาโทกราฟี” มีการผสมสีประมาณ 33 เฉดสี อาทิ สีน้ำตาลออกชมพูที่ได้จากกากมะพร้าว สีแดงที่ได้จากครั่ง สีน้ำเงินที่ได้จากคราม สีน้ำตาลเข้มที่ได้จากฝักคูณ สีน้ำตาลเหลืองที่ได้จากผงกาแฟ สีเหลืองที่ได้จากประโหด สีเหลืองที่ได้จากเข สีน้ำตาลประกายทองที่ได้จากเปลือกมังคุดแห้ง ฯลฯ






เจ้าของรางวัลชนะเลิศผ้าทอลายผ้าไทย เล่าว่า ตอนแรกอยากเรียนสาขาแฟชั่น อยากออกแบบเสื้อผ้า แต่ตอนปี 1 มหาวิทาลัยธรรมศาสตร์จะสอนพื้นฐานทั้งแฟชั่นและสิ่งทอ เมื่อได้เรียนแล้วก็รู้สึกสนุกไปกับการผลิตเส้นใย ผลิตผ้า รู้สึกสนุกมากกว่าแพทเทิร์น หรือแฟชั่น

“เหมือนทุกอย่างต้องกลับมาที่พื้นฐานก่อน คือกว่าเราจะทำเป็นชุดได้ เราก็ต้องผลิตผ้าออกมาก่อน เลยรู้สึกว่าชอบขั้นตอนที่เราเริ่มตั้งแต่แรก ที่สำคัญก็คือกำลังใจจากอาจารย์ที่คณะ เพราะทุกท่านใส่ใจเด็กทุกคน ยิ่งทำให้เราสนุกกับสิ่งที่เรียน” น.ส.เปมิกา เล่า

“ในอนาคตก็อยากต่อยอด พัฒนาผลงานให้มีต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ อยากให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญ เพราะผ้าทอที่ออกมาแต่ละผืนจะมีคุณค่าอยู่ในตัว อยู่ที่เราจะพัฒนาให้ไปไกลได้มากแค่ไหน ส่วนตัวอยากพัฒนาผลงานให้เป็นระดับสากลมากขึ้น ให้คนทุกอายุ-ทุกช่วงวัย ชื่นชอบผ้าทอผืนนี้ หรือลายนี้ อยากให้รู้สึกว่ามันไม่ได้เชย และสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง” น.ส.เปมิกา ระบุ

น.ส.สุพัตรา กล้าหาญ นักศึกษาคณะศิลปกรรมจากรั้วธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “Efflorescence of Feminine”


ทางด้าน “น้องจิมมี่” - น.ส.สุพัตรา กล้าหาญ นักศึกษาคณะศิลปกรรมจากรั้วธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “Efflorescence of Feminine” หรือจินตภาพความงามของหญิงสาวกับดอกไม้ที่เปรียบเสมือนความงาม ซึ่งคว้า “รางวัลชนะเลิศ” ประเภท “ผ้าฝ้าย” จากการประกวดในโครงการเดียวกัน เล่าว่า แรงบันดาลใจในการออกแบบคือการได้รับอิทธิพลสีจาก Thai Textiles Book Spring/summer2022

สำหรับความโดดเด่นของผลงานนั้น เป็นการทอผ้าด้วยเส้นใยธรรมชาติจากฝ้ายเข็น ที่แสดงออกผ่านการทอด้วยลายผ้าลายลูกแก้วผสมผสานกับเทคนิคลายมัดหมี่ มีการใช้โทนสีที่มีสีสันสดใสแสดงถึงความบริสุทธ์ ความอ่อนหวาน ความงดงามเพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงสัญลักษณ์ใหม่ โดยมีการย้อมเส้นใยจากสีธรรมชาติ อาทิ สีฟ้าได้จากการย้อมคราม สีเหลืองได้จากการย้อมปะโหด สีชมพูได้จากการย้อมครั่ง สีน้ำตาลได้จากการย้อมฝักคูณ

“ความรู้ในห้องเรียนสามารถนำไปใช้ได้จริง ตั้งแต่กระบวนการเริ่มทำงาน เรื่องการขึ้นเส้นยืน เส้นด้าย การทำลาย เทคนิคการย้อมสีจากธรรมชาติ เทคนิคการทอ ไปจนถึงวิธีการติดต่อการสื่อสาร การประสานงาน และที่สำคัญคือแนวคิดการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก” น้องจิมมี่ ระบุ

น.ส.สุพัตรา บอกอีกว่า อยากให้คนที่สนใจหรือคนที่มีกำลังชื้อ ช่วยอุดหนุนผลงานชาวบ้านทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อยางทั่วถึง เราสนับสนุนสินค้าชาวบ้าน 1 ชิ้น ก็จะได้สิ่งของที่บ่งบอกได้ถึงศิลปะวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ ขณะที่ชาวบ้านก็จะมีรายได้ นำไปสู่ขวัญและกำลังใจในการที่จะรังสรรค์ผลงานชิ้นต่อไป เพื่อสืบสานไม่ให้ผ้าไทยของแหล่งนั้นๆ หายไป


กำลังโหลดความคิดเห็น