ไวรัสซิกา (Zika virus) เชื้อร้ายจากยุงลาย ไวรัสซิกามีการระบาดหนักในแถบลาตินอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศบราซิล จนทำให้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2495โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2490 จากลิงที่ใช้ในการศึกษาไข้เหลืองในป่าซิกา ประเทศยูกันดา และต่อมาได้มีการรายงาน การพบเชื้อครั้งแรกในคน เมื่อปี พ.ศ. 2507 ในประเทศยูกันดา หลังจากนั้น มีการระบาดของโรคไข้ซิกา ในประเทศแถบแอฟริกา อเมริกา เอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก สำหรับประเทศไทย มีการตรวจพบผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปี พ.ศ. 2558 มีผู้ป่วยยืนยันเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ราย ต่อมากรมควบคุมโรค ได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ช่วงปี พ.ศ. 2559-2561 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้นจำนวน 2,298 ราย โรคไข้ซิกานี้เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย เชื้อไวรัสซิกาเป็นเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และไข้เหลือง สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ที่สำคัญ คือ โรคไข้ซิกานี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ และจากมารดาสู่เด็กทารกในครรภ์
หนึ่งในนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดันแคน ริชาร์ด สมิท (Prof Dr. Duncan Richard Smith) นักไวรัสวิทยา (Virologist) ชาวอังกฤษ จากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ผู้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์มากกว่า 230 เรื่อง และในปี 2563 ติดอันดับเป็น 1 ใน 18 คน ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงสูงสุด Top 2% ของโลก จากการจัดอันดับของ World’s Top 2% Scientists by Stanford University 2020 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ได้ทำการศึกษาทำความเข้าใจ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในประเทศไทย และการวิเคราะห์หากลไกในระดับโมเลกุลในการจำลองตัวของเชื้อไวรัส จนได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2563 ประเภทดีเด่นเฉพาะทาง สาขาการวิจัย ผลงานวิจัยเรื่อง เชื้อไวรัสซิกา : การศึกษาทำความเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในประเทศไทย และการวิเคราะห์หากลไกในระดับโมเลกุลในการจำลองตัวของเชื้อไวรัส
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดันแคน ริชาร์ด สมิท และทีม เป็นกลุ่มวิจัยแรก ๆ ที่ตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย และได้มีการประยุกต์ใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์พื้นฐานด้านไวรัสวิทยา มาใช้ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสซิกาในกลุ่มประชากรไทย ถือเป็นการสร้างเสริมองค์ความรู้ในการศึกษาด้านระบาดวิทยา ช่วยในการคาดการณ์แนวโน้มการระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจติดตาม เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ต่อไปในอนาคตได้
นอกจากนี้ การตรวจวิเคราะห์ลักษณะเชิงลึกของเชื้อไวรัสซิกา และพบว่าเชื้อไวรัสซิกาที่คัดแยกจากผู้ป่วยทารกศีรษะเล็กนั้น มีคุณลักษณะที่แตกต่างไปจากเชื้อไวรัสซิกาที่พบโดยทั่วไป การศึกษาวิจัยนี้เป็นการตรวจวิเคราะห์เชิงลึกถึงคุณลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัส และความรุนแรงของโรคที่อาจนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ต่อไปได้ ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษากลไกระดับโมเลกุล และผลกระทบของเชื้อไวรัสที่มีต่อเซลล์เจ้าบ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างฐานความรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยง และเครือข่ายการปฏิสัมพันธ์ระดับโมเลกุลระหว่างเชื้อไวรัสและเซลล์เจ้าบ้าน ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเชิงลึกนี้ สามารถนำไปสู่การคิดค้นพัฒนาวัคซีนและยาต้านเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไปได้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดันแคน ริชาร์ด สมิท กล่าวว่า “ไวรัสวิทยา (Virology) เป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนบนโลกใบนี้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไวรัสส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนเรามากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเราทำวิจัยด้านไวรัสวิทยาอย่างจริงจังมากเท่าไหร่ จะทำให้เราสามารถพัฒนาวัคซีนและยาใช้ได้จริงเร็วขึ้นเท่านั้น”
นอกจากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ดันแคน ริชาร์ด สมิท ได้ฝากทิ้งท้ายเคล็ดลับ 3 ประการ สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ 1. “Learn Your Job” 2. “Love Your Job” และ 3. “Build People” ซึ่งผู้ที่อยู่รอบข้างของเรา คือ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ ยิ่งเรา “ลงทุน” กับผู้ที่อยู่รอบข้างเรามากเท่าใด เราก็จะได้รับ “การสนับสนุน” จากพวกเขามากเท่านั้น “The more you build your people, the more you will achieve”