ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่เร็ว ทีมสอบสวนควบคุมโรค ทีมฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพจิต ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ ขณะน้ำท่วมและหลังน้ำลด เตือนประชาชนระวังการจมน้ำ หากพักในศูนย์อพยพต้องใช้มาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด เพื่อป้องกันโควิด-19
วันนี้ (15 ก.ย.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมหลายพื้นที่ ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเตรียมความพร้อมทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (MERT/ mini MERT) ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทีมปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) รวมทั้งสำรวจผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง/โรคเรื้อรัง/จิตเวช หญิงตั้งครรภ์ ส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านและจ่ายยาให้เพียงพอ และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลผู้ประสบภัย รวมทั้งดูแล
ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์อพยพ แนะนำผู้ประสบภัยเรื่องการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด เพื่อป้องกันการแพร่และรับเชื้อโควิด 19 นอกจากนี้ ให้ติดตามเฝ้าระวังโรคและอันตรายที่มากับน้ำท่วมและหลังน้ำลด อาทิ การจมน้ำ ไฟฟ้าดูด สัตว์มีพิษ โรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู และไข้เลือดออก
นอกจากนี้ ให้ประเมินสถานบริการสาธารณสุขที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จัดทำแผนประคับประคองกิจการ เตรียมสถานที่สำรองหรือการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็น เตรียมแผนอพยพสำหรับผู้ป่วยวิกฤตและกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
เตรียมที่พักเจ้าหน้าที่ เพื่อความสะดวกในการเดินทางมาปฏิบัติงาน ขนย้ายครุภัณฑ์หรือเอกสารสำคัญขึ้นบนที่สูง หรือย้ายไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย จัดสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และวัสดุวิทยาศาสตร์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ป้องกันน้ำท่วมอาคาร ก่อสร้างที่กั้นน้ำสำหรับพื้นที่บริการผู้ป่วยหรืออาคารที่สำคัญ จัดหาเครื่องสูบน้ำ เครื่องสำรองไฟ ไม่ให้กระทบบริการผู้ป่วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุโกนเซินใน 28 จังหวัด ขณะนี้ยังมีสถานการณ์น้ำท่วม 10 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครนายก นครราชสีมา เลย สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยา มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้รับผลกระทบ 9 แห่ง อยู่ในอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ 5 แห่ง เปิดให้บริการได้ และจังหวัดเลย 4 แห่ง แยกเป็น อำเภอภูกระดึง 2 แห่ง เปิดบริการได้ ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ในอำเภอผาขาวและอำเภอนาด้วง ต้องย้ายจุดให้บริการ