รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยรองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก คลองบ้านขมิ้น-คลองบ้านหม้อ เสนอแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง คืนประวัติศาสตร์ความเป็นคลองคูเมืองธนบุรีฯ
วันนี้ (14 ก.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก (คลองบ้านขมิ้น, คลองบ้านหม้อ) โดยมี ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักงานเขตบางกอกน้อย สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ผู้แทนกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชีนิมิตร ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
สำหรับคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก เป็นคูคลองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้น เพื่อใช้ป้องกันอริราชศัตรูเข้ามาจู่โจมพระนคร โดยขุดไว้ทั้ง 2 ฝั่งคือ คลองคูเมืองฝั่งตะวันออก หรือคลองคูเมืองเดิมในปัจจุบัน และคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก โดยขุดแยกจากคลองบางกอกใหญ่ ปัจจุบันคือ บริเวณใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ ผ่านวัดโมลีโลกยาราม วัดอรุณราชวราราม วัดเครือวัลย์วรวิหาร ตัดคลองนครบาลหรือคลองวัดอรุณ จากนั้นตรงขึ้นไปตัดกับคลองมอญ ตรงขึ้นไปตัดกับคลองวัดระฆัง ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ก่อนไปออกคลองบางกอกน้อยบริเวณใกล้ๆ กับวัดอมรินทราราม ด้านลักษณะกายภาพของคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก ด้านเหนือมีชื่อเรียกว่า คลองบ้านขมิ้น เริ่มจากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงคลองมอญ ความยาวประมาณ 1.59 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ปัจจุบันบริเวณทางรถไฟ ใต้วงแหวนอรุณอมรินทร์ไม่เหลือสภาพคลองแล้ว เป็นท่อระบายน้ำใต้ทางรถไฟ เพื่อระบายน้ำออกไปยังคลองบางกอกน้อย ความยาวประมาณ 60 เมตร ส่วนทางด้านใต้มีชื่อเรียกว่าคลองบ้านหม้อ เริ่มจากคลองมอญไปจนถึงคลองบางกอกใหญ่ ความยาวประมาณ 0.97 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ ความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.56 กิโลเมตร ความกว้างคลองประมาณ 4-10 เมตร มีค่าระดับขุดลอกตามแผน เท่ากับ -1.50 เมตรจากค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ตลอดความยาวคลองบางช่วง มีการก่อสร้างเขื่อนแล้วความยาวประมาณ 1,500 เมตร เป็นเขื่อนรูปแบบมีค้ำยันกลาง และส่วนที่ยังไม่มีเขื่อนบางแห่งมีสภาพเป็นชานดินความยาวประมาณ 1,000เมตร บางช่วงมีการรุกล้ำของสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งสภาพคลองบางช่วงมีความตื้นเขินและมีต้นไม้ขึ้นรกร้าง ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนโบราณสถานกับทางเว็บไซต์กรมศิลปากร ปรากฏคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก (คลองบ้านขมิ้น, คลองบ้านหม้อ) เป็นโบราณสถาน สถานการณ์พิจารณาขณะนี้อยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนกับทางกรมศิลปากร สำหรับขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการกับทางกรมศิลปากร (อ้างอิงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง) กรุงเทพมหานครจัดทำรูปแบบเรียบร้อยแล้ว โดยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานร่วมประชุมพิจารณา โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามระเบียบพัสดุเพื่อหาตัวผู้รับจ้าง และมติที่ประชุมให้เพิ่มเติมแก้ไข เช่น ให้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี เพิ่มเติมแก้ไขรูปแบบ เป็นต้น ต่อมากรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ แล้วเสร็จ ส่งเรื่องถึงอธิบดีกรมศิลปากรพิจารณา
ปัจจุบันคลองคลองคูเมืองฝั่งตะวันตกมีความแตกต่างกับคลองคูเมืองฝั่งตะวันออกโดยสิ้นเชิง ทั้งจากการปลูกสร้างต่อเติมที่อยู่อาศัยของประชาชนที่รุกล้ำลงไปในคูคลอง การทิ้งขยะและน้ำเสียจากบ้านเรือนและชุมชน การถูกปิดกั้นตามแนวคูคลองด้วยการถมคลองเปลี่ยนเป็นถนนและสะพาน รวมถึงการก่อสร้างคานคอนกรีตกั้นระหว่างแนวคลองเป็นระยะๆ เรือไม่สามารถสัญจรผ่านคูคลองได้ ส่งผลให้สภาพวิถีชีวิตริมฝั่งคลองเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองคูเมืองฝั่งตะวันตก (คลองบ้านขมิ้น, คลองบ้านหม้อ) การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง การจัดเก็บขยะกำจัดวัชพืช การขุดลอกคลองบางช่วงที่ตื้นเขิน เพื่อเปิดทางน้ำไหลเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนถ่ายเทของน้ำ คืนประวัติศาสตร์ความเป็นคลองคูเมืองธนบุรีฝั่งตะวันตกดั่งเช่นอดีตที่ผ่านมา