ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯ เผย "โควิดสายพันธุ์มิว B.1.621" ยังไม่พบในไทย หลังล่าสุดองค์การอนามัยโลกยกระดับการแพร่ระบาดให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง ระบุกลายพันธุ์จากดั้งเดิม 50-60 ตำแหน่ง จับตาเฝ้าระวังเข้มคนเดินทางจากต่างประเทศ-โครงการแซนด์บอกซ์
วันนี้ (2 ก.ย.) ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า สายพันธุ์มิว ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย เมื่อเดือนม.ค. 2564 ต้นปีที่ผ่านมา ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID มีการเผยแพร่ข้อมูลที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น และมีการถอดรหัสพันธุกรรม พบการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธ์ดังเดิมอู๋ฮั่นค่อนข้างมากถึง 50-60 ตำแหน่ง จึงเป็นปัจจัยทำให้องค์การอนามัยโลกพิจารณายกระดบให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตัวที่ 5
หลังจากที่ก่อนหน้ามี 4 สายพันธุ์ที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง คือ อีตา (Eta- B.1.525) ระบาดในหลายประเทศ , ไอโอตา (Iota - B.1.526 ) ระบาดในสหรัฐอเมริกา , แคปปา (Kappa- B.1.617.1) ระบาดในอินเดีย และ แลมบ์ดา (Lambda- C.37) ระบาดในเปรู สายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดเป็นกลุ่มสีเหลืองที่ความรุนแรงยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่ต้องระวังหรือ Variants of Concern (VOC) เป็นกลุ่มสีแดงมี 4 ตัวที่ระบาดในขณะนี้ คือ เดลตา,อัลฟา, เบตา และแกมมา
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า สายพันธุ์มิวระบาดอยู่ในประเทศที่ไกลจากบ้านเรา ประเทศในแถบเอเชียก็ยังไม่พบรายงานการระบาด และประเทศไทยยังไม่มีรายงานพบสายพันธุ์นี้ ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าอาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ความกังวลที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกัน เนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปหรือแอนติบอดีสังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปจะไม่ตอบสนอง ดังนั้นจึงต้องรีบศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่ได้หมายความว่าในร่างกายมนุษย์จริงๆ จะเป็นเช่นนั้น
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บ่อยครั้งที่เรากังวลใจทำให้เกิดการเฝ้าระวังเป็นสิ่งที่ดี เช่น สายพันธุ์เบตาที่ระบาดในจ.นราธิวาส แต่เมื่อศึกษาพบการแพร่ระบาดไม่ได้เพิ่มจำนวนมากเท่าเดลตาหรืออัลฟา กระทรวงสาธารณสุขก็ควบคุมจำนวนจนเรียกได้ว่าเอาอยู่ อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังสายพันธุ์มิวสำหรับประเทศไทย ก็คงต้องเข้มงวดระบบการเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งในสถานกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและในโครงการแซนด์บอกซ์
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมแถลงความคืบหน้า เรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด ในสายพันธุ์ กลุ่ม AY ,C.1.2. และ สายพันธุ์มิว แต่ขณะนี้ยังไม่พบทั้งสายพันธุ์ C.1.2. หรือ มิว ในไทย อย่าพิ่งรีบตกใจ หรือกังวล มาตรการต่างๆ ทั้งสวมหน้ากากอนามัย และการหมั่นล้างมือ และมีระยะห่างยังเป็นกลไกในการป้องกันควบคุมโรคที่ดีที่สุด ส่วนเมื่อมีการผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการให้สามารถดำเนินการได้ เช่น การนั่งรับประทานอาหารในร้าน นั้น ขอย้ำว่าการตรวจด้วยชุดทดสอบ ATK สามารถช่วยคัดกรองได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ไวเท่าการตรวจด้วย RT-PCR แต่ก็มีราคาถูกกว่า หากต่อไปในอนาคตราคาของ ATK ถูกลงเรื่อยๆ เพียงชุดละ 60 บาท เชื่อว่าการตรวจคัดกรองในระดับบุคคลจะเพิ่มมากขึ้น และเกิดความคุ้มค่ามากกว่า เพราะต้นทุนในการตรวจ RT-PCR สุ่มตรวจ 100,000 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,500 บาทต่อคน รวมค่าใช้จ่ายสูงถึง 150 ล้านบาท