กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงนามออนไลน์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสริมความรู้การเงินการลงทุนให้แรงงานทั่วประเทศ
วันที่ 2 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความรู้เรื่องการเงินการลงทุนสำหรับแรงงานระหว่าง นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กับ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมี นางสาวจิราภรณ์ ปุญญฤทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นพยานในการลงนามผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
ศาสตราจารย์ นฤมล เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ด้วยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มในการบริหารจัดการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่จำเป็น และต่อยอดสู่การลงทุนได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน และสำนักงาน ก.ล.ต. จึงเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจการสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการมีความรู้เรื่องการเงินการลงทุน ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นให้แก่กลุ่มแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานกลุ่มเปราะบาง ให้มีทักษะด้านการบริหารจัดการเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้เรื่องความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ
รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดริเริ่มของความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของกระทรวงแรงงานและสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ต้องการให้แรงงานไทยโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้มีความรู้และทักษะการบริหารจัดการเงิน มีวิธีการใช้เงินอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่จำเป็นในการบริหารจัดการเงินและหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถต่อยอดสู่การลงทุนได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและเป้าหมายของตนเอง นอกเหนือจากกลุ่มเปราะบางแล้ว ยังมีกลุ่มแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ เป็นต้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อเป็นอาวุธทางปัญญาในการจัดการทางการเงิน ตลอดจนความเสี่ยงในการลงทุนเบื้องต้น จึงขอฝากให้พัฒนาเนื้อหาในหลักสูตรให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้แรงงานไทยทุกคนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพต่อไป
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แรงงาน โดยเฉพาะการช่วยให้แรงงานมีทักษะการลงทุน สามารถประกอบอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันทางการเงินในช่วงที่ต้องปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตในยุค New Normal และผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย” รมช.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย