xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมรับมือฝนหนัก 30 ส.ค.- 5 ก.ย.นี้ ยกแผนเผชิญเหตุอุทกภัยฯ เร่งระบายน้ำสู่ระบบหลัก-ระบบรอง ลดผลกระทบให้ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพมหานคร เผยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงวันที่ 30 ส.ค.- 5 ก.ย. 64 ตามที่กรมอุุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศไว้ โดยจะยกแผนเผชิญเหตุอุทกภัยฯ เฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เร่งระบายน้ำสู่ระบบหลักและระบบรอง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

วันนี้ (30 ส.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน และเมื่อวันที่ 26-29 ส.ค. ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักมากกว่า 150 มิลลิเมตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพตะวันออก มีฝนตกหนักสูงสุดถึง 189 มิลลิเมตรในพื้นที่เขตหนองจอกและลาดกระบัง ซึ่งในการแก้ไขปัญหาได้มีดำเนินการพร่องน้ำในคลอง เปิดประตูระบายน้ำ จัดเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมพร้อมเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขัง เป็นต้น จากสถิติฝนสะสมวันที่ 29 ส.ค. ของปี 64 พบว่า มีฝนถึง 1,176 มิลลิเมตร สูงกว่า ปี 63 ที่มีฝน 950 มิลลิเมตร อีกทั้งสูงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 30 ปี ของวันเดียวกัน (29 ส.ค.) ที่มีฝน 1,026.4 มิลลิเมตร อย่างไรก็ตาม พื้นที่กรุงเทพฯ จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องโดยในช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 64 กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศว่าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีฝนตกหนัก 60-70% ของพื้นที่ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมรับมือและเฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบระบายน้ำหลักในพื้นที่ ทั้งนี้ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ห่างไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่ทะเลได้โดยเร็ว ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ระบายน้ำแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่ 135.5 ตารางกิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง และหากกรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่อีก 4 แห่ง ครบตามแผนงานที่จะดำเนินการในปี 2563 และ 2564 กรุงเทพมหานครจะมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 425 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่รวม 478.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งจากน้ำฝนที่ตกในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่นอกคันป้องกันครอบคลุมพื้นที่สำคัญของกรุงเทพมหานครได้เกือบทั้งหมด

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นั้น กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2564 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ ลดลงจากปี 2563 โดยมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 47 จุด ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะตั้งแต่ก่อนฝนตก ระหว่างฝนตก และหลังฝนตก เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกหนักอาจจะต้องมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงป้องกันสิ่งของได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ได้กำชับให้เร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากการระบายน้ำเข้าสู่ระบบระบายน้ำหลักไม่สามารถทำได้เต็มกำลังก็ให้เร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำรองหรือจุดย่อยแทนเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบให้ประชาชน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในจุดเสี่ยงและพื้นที่ต่างๆ ให้ได้รวดเร็ว กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2563 (ถือปฏิบัติปี 2564) ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2558 โดยแนวทางดำเนินการของแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีดังนี้ 1. การประเมินความเสี่ยง จุดเสี่ยง และลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งจากน้ำหลากและฝนตกหนัก พร้อมแนวทางลดผลกระทบ 2. ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และบัญชีศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับการอพยพ 3. ข้อมูลการเตรียมความพร้อมของระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำ และศักยภาพในการแก้ไขสถานการณ์ 4. ข้อมูลบุคลากรและอุปกรณ์สนับสนุนการเผชิญเหตุอุทกภัย 5. ACTION PLAN สำหรับเหตุที่จะเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ ตามระดับความรุนแรง 6. แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เสี่ยงในถนนสายหลักและถนนสายรอง 6. การสื่อสาร แจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัย ซึ่งในการดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น












กำลังโหลดความคิดเห็น