รศ. นพ.ปารยะ อาศนะเสน
คลินิกการรับกลิ่นและรส สาขาวิชาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
การรับกลิ่น (Olfactory sensation) เป็นระบบประสาทรับความรู้สึกในร่างกาย เช่นเดียวกับระบบการรับรู้ทางด้านอื่น ๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน เป็นต้น ระบบการรับกลิ่นมีความสำคัญเพราะเป็นปัจจัยพื้นฐาน ทำให้มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น หรือลดลง และช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย เช่น การแยกแยะอาหารบูด การรับกลิ่นควันไฟเวลาเกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งเป็นสัญญาณเตือนภัย เมื่อมีสารเคมี เป็นพิษ หรือแก๊สรั่วไหล
อาการจมูกไม่ได้กลิ่น มักจะเกิดร่วมกับโรคหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้นเนื่องจากการประเมินความผิดปกติของการรับกลิ่นทำได้ยาก และผู้ป่วยมักจะเข้าใจว่าไม่มีทางรักษาให้หายได้ จึงทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาการรับกลิ่นไม่ได้รับการวินิจฉัย และดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการรับกลิ่น ได้แก่ อุบัติเหตุที่ศีรษะ การติดเชื้อไวรัสจากการเป็นหวัด และโรคของจมูกและไซนัส เช่น จมูกอักเสบภูมิแพ้ จมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก และเนื้องอก โดยแพทย์สามารถตรวจหาความผิดปกติในการรับกลิ่นของผู้ป่วยได้จากการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก (nasal endoscopy) การทดสอบสมรรถภาพการรับกลิ่น (smell test) การตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของภาวะโภชนาการและต่อมไร้ท่อ ถ้าสงสัยว่าความผิดปกติของการรับกลิ่นมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบประสาท ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography : CT) หรือ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI) ผู้ป่วยที่จมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นน้อยลงจึงควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อสืบค้นหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ และติดตามการรักษาในระยะยาว
แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ปลอดภัย ประกอบด้วย
1.การเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย (safety precaution) เมื่อจมูกไม่ได้กลิ่น (anosmia) หรือได้กลิ่น
น้อยลง (hyposmia) ผู้ป่วยขาดสัญญาณเตือนภัยอันตราย (warning signals) เช่น ควันไฟ แก๊สรั่ว อาหารบูดและเน่าเสีย ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรมีญาติพักอาศัยอยู่กับผู้ป่วยด้วย เพื่อเฝ้าระวังว่า มีภัยอันตรายเกิดขึ้นหรือไม่ (ควันไฟ แก๊สรั่ว หรืออาหารที่เก็บไว้บูด เน่าเสียหรือไม่) แต่ถ้าผู้ป่วยต้องอยู่คนเดียว ควรปฏิบัติดังนี้
• ติดตั้งเครื่องตรวจจับควัน (smoke detector) ที่เพดานห้องทุกห้องถ้าเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยควรติดห้องที่ผู้ป่วยนอน และควรจดวันและเวลาในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ไว้ด้วย
• ติดตั้งเครื่องฉีดน้ำที่เพดาน (fire sprinkler) ที่เพดานห้อง ในกรณีไฟไหม้ เครื่องมือจะได้ฉีดน้ำดับไฟอัตโนมัติ ถ้าติดได้ทุกห้องยิ่งดี หรืออย่างน้อย ควรติดห้องที่ผู้ป่วยนอน
• การเก็บอาหารเข้าตู้เย็น ควรมีฉลากหรือกระดาษเขียนวันและเวลาติดภาชนะที่เก็บอาหารเข้าตู้เย็น จะได้ทราบว่าเก็บไว้นานเพียงใด และสมควรจะกินหรือไม่ เพราะอาจป่วยจากอาหารเป็นพิษ
2.การฝึกดมกลิ่น (olfactory training) เซลล์ประสาทรับกลิ่น (olfactory neuron) มีการเพิ่มจำนวน
และเกิดขึ้นมาใหม่ได้ (neuroplasticity) และการฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อยๆ (olfactory training) จะเพิ่มความสามารถในการรับกลิ่น และเพิ่มจำนวนของเซลล์ประสาทรับกลิ่นได้ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะกลับมาได้กลิ่น ในกรณีจมูกไม่ได้กลิ่น หรือมีโอกาสที่จะได้กลิ่นมากขึ้นในกรณีจมูกได้กลิ่นน้อยลง มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ฝึกดมกลิ่นที่ผู้ป่วยคุ้นเคยบ่อย ๆ อย่างชัดเจน
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าการรับกลิ่นเป็นเรื่องสำคัญ หากเมื่อใดท่านหรือคนรอบข้างเริ่มมีความผิดปกติของการรับกลิ่น หรือการรับกลิ่นเปลี่ยนไป ไม่ควรนิ่งนอนใจและปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุโดยเร็ว