xs
xsm
sm
md
lg

สายด่วนโควิด 50 เขต ช่วง 20 วันบริการเกือบ 6 หมื่นราย เร่งประสานช่วยเหลือและเข้าระบบรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (24 ส.ค.)  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกรุงเทพมหานครที่พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เป็นการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด กรุงเทพมหานครจึงได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคควิด 50 เขต โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งตั้งสายด่วนโควิด 50 เขต ซึ่งเป็นสายตรงถึง 50 สำนักงานเขต เขตละ 20 คู่สาย เพิ่มเติมจากสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว โดยมีเจ้าหน้าที่ กทม. คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 3-22 ส.ค. 64  สายด่วนโควิด 50 เขตได้ให้บริการประชาชนไปแล้ว 58,442 สาย เป็นสายจากกลุ่มเขตกรุงเทพใต้มากที่สุด 20,577 สาย รองลงมาคือ กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 11,938 สาย กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 9,570 สาย กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 6,670 สาย กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 4,846 สาย และกลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 4,841 สาย ตามลำดับ

ทั้งนี้ สายด่วนโควิด 50 เขต เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น อันจะเป็นการลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยผู้ป่วยหรือผู้ที่ดูแลสามารถโทรติดต่อสายด่วน 1330 หรือโทรแจ้งสำนักงานเขตในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อประสานความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยติดเชื้อผ่านทางสายด่วนโควิดเขต จะมีการประเมินอาการในเบื้องต้นและความพร้อมในการเข้ารับการรักษาตามระดับอาการ หากผู้ป่วยสามารถแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) ได้ เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและขั้นตอนในการดูแล รวมถึงการจ่ายยาและมอบอุปกรณ์พยาบาลในเบื้องต้น หากผู้ป่วยไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ จะดำเนินการนำผู้ป่วยส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (community isolation : CI) โดยมีทีมแพทย์พยาบาลประเมินอาการ ให้ยารักษา และส่งต่อเข้ารับการรักษาตามอาการต่อไป

สำหรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจโควิด-19 จาก Antigen test หรือ RT- PCR สามารถโทรติดต่อสายด่วน 1330 หรือสายด่วนของสำนักงานเขต ซึ่งนอกจากการดำเนินการเกี่ยวกับระบบ HI และ CI แล้ว ยังประสานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย โดยสายที่โทรเข้ามาที่สำนักงานเขต จะมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยไปที่ระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้ สปสช. เป็นผู้แจกจ่ายเคสให้กับทีมที่ต้องเข้าไปประเมินตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่ต้องเข้าสู่ระบบ HI และ CI กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง จะเป็นผู้ดูแล ร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น และคลินิกภาคเอกชนที่เป็นเครือข่าย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากทม. ได้เร่งดำเนินการค้นหาผู้ป่วยที่ติดค้างในชุมชนต่าง ๆ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อจากครอบครัวและชุมชน และลดการแพร่ระบาดโดยนอกเหนือจากเปิดจุดตรวจค้นหาเชื้อทั้ง 6 จุดใน 6 กลุ่มโซนแล้ว ยังได้ส่งทีม Bangkok CCRT เข้าไปในชุมชนต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-22 ส.ค. 64 แล้วทั้งสิ้น 3,190 ชุมชน มีผู้ได้รับบริการ 176,963 ราย ตรวจ ATK 42,091 ราย มีผลบวก 4,819 ราย พร้อมกันนี้ทีม Bangkok CCRT ยังได้ฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่ม 608 ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ 62,518 ราย ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง 58,566 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 287 ราย สำหรับผู้ป่วยที่เข้าระบบ Home Isolation แยกรักษาตัวที่บ้าน ยอดสะสม 89,369 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 33,408 ราย อาการทั่วไป 33,189 ราย และส่งต่อโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการ 219 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ส.ค.64)
































กำลังโหลดความคิดเห็น