เพราะผู้สูงวัย และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดอยู่ขณะนี้ กทม. จึงระดมเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่เรียกว่า กลุ่ม “608” เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรง
โดยกลุ่ม “608” นั้น ประกอบไปด้วยประชากร 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
2. กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน
3. กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยถึงภาพรวมของการฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานคร ว่าหน่วยความร่วมมือบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายหลังจากได้รับจัดสรรวัคซีน ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ กรุงเทพมหานครจะได้รับวัคซีนจำนวน 750,000 โดส โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งให้ทุกสัปดาห์ คือ สัปดาห์ที่ 1-3 จัดส่งสัปดาห์ละ 175,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 จัดส่ง 225,000 โดส ซึ่งกรุงเทพมหานครจะจัดฉีดให้แก่ 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการไทยร่วมใจฯ ในคิวเดิมที่เลื่อนตามลำดับต่อไป หากกรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมจะเร่งทำการฉีดให้กับประชาชนทันทีตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรรโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ศักยภาพการให้บริการของหน่วยบริการสามารถรองรับประชาชนได้สูงสุดถึง 80,000 คนต่อวัน
“ขณะนี้ผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนแล้วเป็นจำนวนมาก และขอเน้นย้ำให้ทุกคนแม้จะได้รับบริการวัคซีนแล้วก็ตาม ให้ปฏิบัติตนตามมาตรการสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ 1. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกสู่ที่สาธารณะ 2. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และ 3. เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 - 2 เมตร ตามมาตรการทางสาธารณสุข เรื่องการเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) เพื่อจะได้ลดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง กล่าว
กทม. ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ณ หน่วยความร่วมมือบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สูงอายุให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่ม 608 ได้ดียิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ กทม.ได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมกับสำรวจและค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงและได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นและเร็วขึ้น
“นายชาติชาย กุละนำพล” ผู้อำนวยการเขตคลองสาน เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่เขตคลองสานนั้น เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ในชุมชนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 34 ชุมชน รวมทั้งย่านธุรกิจ ย่านชุมชนหนาแน่นต่าง ๆ ด้วย จากการสำรวจจำนวนประชากรกลุ่ม 608 ของพื้นที่แล้ว พบว่ามีประมาณ 10,000 คน
“จากการลงพื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ในพื้นที่เขตคลองสาน โดยความร่วมมือกับศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี ผลตอบรับเป็นไปในทางที่ดีมากครับ กลุ่มเป้าหมายตื่นตัวดีมาก โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์โดยเร็วที่สุด เพราะกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ถ้าเราดำเนินการได้ครบถ้วนและรวดเร็ว จะลดอัตราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้” นายชาติชาย กุละนำพล กล่าว
ด้าน นพ. พิชญุตม์ วิเศษธนากร แพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรีเปิดเผยถึงการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ว่า เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถเดินทางมาที่ศูนย์บริการได้ เช่น ผู้สูงอายุที่เดินทางลำบาก ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน
“สำหรับขั้นตอนการลงพื้นที่ในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 คือ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปสำรวจพื้นที่ พร้อมบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชน ซึ่งหากไม่ติดเชื้อ จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทันที ส่วนผู้ติดเชื้อจะให้เข้ากระบวนการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) ต่อไป” นพ. พิชญุตม์ วิเศษธนากร กล่าว
นางสุจิตรตรา สมรูป พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 ว่า การลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่ม 608 จะมีการประชาสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องขั้นตอนการฉีดวัคซีน การปฏิบัติตัวทั้งก่อนฉีดวัคซีน ระหว่างฉีดวัคซีน และหลังการฉีดวัคซีน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนเกิดความเชื่อมั่น
“หน่วยฉีดวัคซีนของเราเป็นหน่วยมาตรฐานการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว เราจะมีคุณหมอคอยซัพพอร์ต ขั้นตอนกระบวนการทุกอย่างจะเหมือนกับศูนย์บริการฉีดวัคซีนทุกที่ ซึ่งเราเป็นหน่วยเคลื่อนที่ ดังนั้น ก่อนจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เราจะประสานงานกับรถพยาบาล EMS Advance ไว้ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีการติดตามอาการหลังฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน คือ 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน ทั้งนี้ หลังจากฉีดวัคซีน หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ของหน่วยบริการได้ทันที ซึ่งช่วยให้ประชาชนในชุมชนเกิดความเชื่อมั่น และต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น กระแสตอบรับดีมากค่ะ” นางสุจิตรตรา สมรูป กล่าว
ขณะที่คุณยายวิวัชรินทร์ เลิศลักษณา วัย 104 ปี ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน เล่าว่า ตอนแรกก็กลัวการฉีดวัคซีนเหมือนกัน แต่ลูกหลานสนับสนุนให้ฉีดเพื่อความปลอดภัยและความสบายใจ จึงตัดสินใจฉีด โดยได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564
“ตอนแรกยายก็กลัวการฉีดวัคซีน แต่ลูกหลานที่บ้านอยากให้ฉีด เพราะถ้าได้วัคซีนจะได้ปลอดภัยและสบายใจ พอลูกหลานสนับสนุน ยายก็เลยตัดสินใจฉีด และไม่กลัวแล้ว ตอนนี้ยายฉีดวัคซีนไปแล้วหนึ่งเข็ม ก็ปกติดี ไม่มีผลข้างเคียงอะไร และกำหนดฉีดเข็มสอง วันที่ 28 ตุลาคม 2564”
ด้านนางธนนุช ตรีทิพยบุตร อายุ 74 ปี ลูกสาวของคุณยายวิวัชรินทร์ ได้กล่าวเสริมว่า ผู้สูงอายุมักจะกลัวการฉีดยา ซึ่งลูกหลานต้องค่อย ๆ สื่อสาร ให้ท่านคลายความกังวล และเป็นการดีอย่างยิ่งที่ กทม. ให้ความร่วมมือช่วยเหลือบริการฉีดวัคซีนถึงบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไปรับวัคซีนเองได้
“ตรงนี้อยากจะฝากถึงผู้สูงอายุ หรือบ้านใดที่มีผู้สูงอายุแต่กลัวการฉีดวัคซีนนะคะว่า ปัจจุบัน อย่างที่ทราบกันดีว่าเชื้อโควิดแพร่ไปทุกทิศทุกทางและกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ การรักษาอาจจะยากขึ้น ซึ่งโรคนี้คงจะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะฉะนั้นนอกจากใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ แล้ว เราก็ต้องมีภูมิคุ้มกันของเราด้วย จึงอยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุทั้งหลายหรือทุกครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านมาฉีดวัคซีนกันค่ะ เพื่อปกป้องตัวเอง ปกป้องคนที่เรารัก” นางธนนุช ตรีทิพยบุตร กล่าว
ทั้งนี้ นพ. พิชญุตม์ วิเศษธนากร แพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้วัคซีนถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูงและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตได้ดี จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกท่าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีความเสี่ยง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับวัคซีน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และหากติดเชื้อ ก็ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
สำหรับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนของกลุ่ม 608 นั้น กลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย และพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว สามารถมาฉีดวัคซีนได้ตามนัดหมาย
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค สามารถติดต่อลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่รักษาประจำ หรือทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก Bangkok CCRT ของกรุงเทพมหานคร
สำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จะมีแจ้งวันที่เป็นระยะในเพจเฟซบุ๊ก “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย Safe Bangkok” สามารถ Walk-in เข้ารับวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีน ไทยร่วมใจ 12 แห่ง ได้แก่ SCB สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน), SCG บางซื่อ, โรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง, เซ็นทรัล ลาดพร้าว, เซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์ , โลตัส พระราม 4, เอเชียทีค, มหาวิทยาลัยหอการค้า, สยามพารากอน, เดอะมอลล์ บางกะปิ และ เดอะมอลล์ บางแค โดยนำใบฝากครรภ์ หรือใบรับรองการตั้งครรภ์จากแพทย์พร้อมบัตรประชาชน มาแสดงที่ศูนย์ฉีดวัคซีนด้วย