xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ผิวหนังแนะนำการใส่ถุงน่องเพื่อการรักษาเส้นเลือดขอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำการใส่ถุงน่องเพื่อการรักษาเส้นเลือดขอด ช่วยลดความดันในหลอดเลือดดำสูงที่ขา และเพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดดำ ทำให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น ป้องกันการเป็นมากขึ้นของโรคในอนาคตได้

วันนี้ (13 ส.ค.) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เส้นเลือดขอด เป็นอาการหนึ่งในภาวะหลอดเลือดดำชั้นตื้นผิดปกติ หรือที่เรียกว่า Chronic Venous Disorder (CVD) โดยภาวะนี้พบได้ไม่น้อยในปัจจุบัน CVD เกิดจากความดันในหลอดเลือดดำที่สูงมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดเส้นเลือดขอด ได้แก่ การมีอายุที่มากขึ้น การตั้งครรภ์ ภาวะอ้วน พันธุกรรม เพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมถึงการทำงานที่ต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติที่บริเวณลิ้นของหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ไม่ดี จากแรงโน้มถ่วงจึงทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้เกิดรอยโรคใน CVD ตามมา เช่น เส้นเลือดฝอย เส้นเลือดขอด ผิวหนังอักเสบ ภาวะหนังแข็ง จนถึงทำให้เกิดแผลลึกตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถุงน่องหรือถุงเท้าเพื่อการรักษา จะแตกต่างจากถุงน่องเพื่อความงามทั่วไป ตรงที่ถุงน่องเหล่านี้จะมีความดันที่บริเวณข้อเท้าที่พอเหมาะในการเพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น ทำให้สามารถลดความดันในหลอดเลือดดำสูงที่ขาได้ นอกจากนี้ ยังลดการอักเสบ ภาวะบวม รวมถึงเพิ่มออกซิเจนให้สามารถเลี้ยงที่ผิวหนังได้ดีขึ้น โดยถุงน่องกลุ่มนี้ จะมีความดันสูงที่สุดที่บริเวณข้อเท้า และมีความดันค่อยๆ ลดลงในบริเวณที่เหนือข้อเท้าขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีอาการบวมของเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดขอด หรือมีอาการบวมที่ข้อเท้า หรือหลังการฉีดสารทำลายเส้นเลือดขอด แนะนำให้ใช้ความดันประมาณ 20-30 มิลลิเมตรปรอท ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีผิวหนังอักเสบ หรือมีแผลจากหลอดเลือดดำ ควรใช้ถุงน่องที่มีความดันข้อเท้าที่สูงขึ้น อีกทั้งถุงน่องยังมีหลากหลายความยาวให้เลือกใช้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แต่ยังไม่ได้รับการรักษา หรือ มีแผนที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการฉีดเส้นเลือดขอด ควรใช้ความยาวเหนือเข่า ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุมากหรือได้รับการรักษาแล้ว สามารถใช้ความยาวใต้เข่าได้ โดยควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ควรใส่ถุงน่องช่วงกลางวัน หรือช่วงการทำงานที่ต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ รวมถึงการเดินทางที่ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการภาวะ CVD รวมถึงภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน โดยอาจไม่จำเป็นต้องใส่ในช่วงเวลานอน การใส่ถุงน่องเพื่อการรักษานั้น จะทำให้อาการและรอยโรคจากเส้นเลือดขอดและภาวะ CVD ดีขึ้น และป้องกันการเป็นมากขึ้นของโรคในอนาคตได้ ก่อนที่จะได้รับการใส่ถุงน่องเพื่อการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินภาวะของโรค รวมถึงวัดขนาดขาเพื่อให้ได้ความดันข้อเท้าที่เหมาะสมกับรอยโรคและอาการของผู้ป่วย และพิจารณาความยาวที่เหมาะสม รวมถึงประเมินข้อห้ามในการใส่ เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายผิดปกติ




กำลังโหลดความคิดเห็น