xs
xsm
sm
md
lg

กทม. จับมือ SCG ใช้นวัตกรรมเพิ่มห้อง ICU รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปฏิเสธไม่ได้ว่า  ณ เวลานี้ในพื้นที่ กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการอยู่ในภาวะวิกฤตหรือผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดง  ซึ่งมีอาการรุนแรง เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้  เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดงให้ทั่วถึงมากที่สุด  กทม. ได้ร่วมมือกับ SCG สร้างอาคาร Modular ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงเป็นการเร่งด่วน

โดย พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (SCG) ดำเนินการเพิ่มเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรง (กลุ่มสีแดง)  โดยใช้นวัตกรรม Modular ICU ในการปรับเพิ่มห้อง ICU ภายในศูนย์การเรียนรู้ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค  โดยออกแบบตรงตามมาตรฐานของห้อง ICU ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกประการ อีกทั้งยังปรับระบบการรักษาและพื้นที่บริเวณ ชั้น 1 ของโรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 1 (ศูนย์การเรียนรู้ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์) จากเดิมใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง โดยสร้างเป็นห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดงเพิ่มเติม ขณะนี้ได้สร้างเสร็จแล้วทั้งหมด สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 40 เตียง และเริ่มเปิดรับผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรง (กลุ่มสีแดง) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้เปิดบริการ Modular ICU แล้ว 4 อาคาร (ICU 1,2,3,4) รองรับผู้ป่วยได้ 40 เตียง และมีผู้ป่วยเข้าพักรักษาแล้วเต็มจำนวน พร้อมทั้งมีแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลราชพิพัฒน์และโรงพยาบาลธนบุรีร่วมดูแลผู้ป่วย

“ตั้งแต่ กทม. เริ่มเปิดให้บริการ Modular ICU เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณ 200 ราย  ภายหลังจากที่อาการดีขึ้น ได้ย้ายไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีเขียว เพื่อรักษาตัวต่อจนหายกลับบ้านแล้วกว่า 50 คน  ซึ่งในขณะนี้โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 1 (ศูนย์การเรียนรู้ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์) มีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดรวมทั้งหมด 160 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดง 80 เตียง และผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง 80 เตียง” พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว


ด้าน นพ.สุขสันต์   กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร  ให้เหตุผลเกี่ยวกับการนำนวัตกรรม Modular ICU มาใช้  เนื่องจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดของ กทม. มีการปรับปรุงพื้นที่อาคาร เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เต็มพื้นที่ และการจะขยายห้อง ICU ในตัวอาคารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องปรับปรุงซ่อมแซมและใช้งบประมาณจำนวนมาก  จึงมีแนวคิดในการใช้นวัตกรรมของ SCG มาสร้างห้อง ICU ในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ว่าง   โดย Modular ICU จะมีขนาดประมาณ  24.79 x 11.29 เมตร ซึ่ง SCG ได้ทำการผลิตและนำมาประกอบได้รวดเร็ว

“Modular ICU มีลักษณะตรงตามมาตรฐานของ ICU ในโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยทำเป็นห้องความดันลบ มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เรียกว่า Ante room ก่อนเข้าไปยังห้อง ICU และมี Workstation หรือเคาน์เตอร์พยาบาล ห้องปฏิบัติการทำงานของเจ้าหน้าที่จะเป็นความดันบวก มีอุปกรณ์ประกอบเหมือนห้อง ICU มีเครื่องติดตามสัญญาณชีพติดตั้งทุกเตียง มีระบบติดตามสัญญาณชีพส่วนกลางที่เรียกว่า Central Monitor นอกจากนี้ ยังมีเครื่องช่วยหายใจ มีเครื่องให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง เครื่องให้สารน้ำทางหลอดเลือด มีอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับช่วยชีวิต เช่น เครื่องกระตุกหัวใจ เป็นต้น”


นพ.สุขสันต์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ ขณะนี้ การจัดตั้ง Modular ICU เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตรงตามแผนที่กำหนดไว้ และค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจัดตั้งในโรงพยาบาล อีกทั้งมีความรวดเร็วในการจัดติดตั้งและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับโรงพยาบาล ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากความร่วมมือของหลายฝ่ายที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลังความสามารถ

“นอกจากโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งห้องความดันลบ ICU ที่ร่วมกับ SCG แล้ว   ในส่วนของการปฏิบัติงานของทีมแพทย์พยาบาล 4 Modular ICU   เราได้ร่วมมือกับภาคีสมาคมโรงพยาบาลเอกชน   โดยมีโรงพยาบาลธนบุรี ส่งทีมบุคลากรมาร่วมดูแล และในเรื่องของอุปกรณ์  เช่น  เตียง เครื่องช่วยหายใจ    โดยอุปกรณ์ทุกอย่างใน 4 Modular ICU ดำเนินการจัดซื้อ  โดยโรงพยาบาลธนบุรี และเมื่อดูแลผู้ป่วยโควิดหายดี หรือสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น อุปกรณ์ทั้งหมดจะมอบให้กับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร” นพ.สุขสันต์ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น