ความร่วมมือระดับโลกในการตระหนักถึงผลกระทบจากขวดพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกฝ่ายมองเป้าหมายเดียวกันในการลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม และร่วมกันจัดการขวดพลาสติกPET ที่ใช้แล้วด้วยการนำกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก rPET เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง สร้างการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แบรนด์สินค้าชั้นนำระดับโลกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ขวด PET เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ต่างประกาศพันธกิจว่าด้วยแนวทางสร้างความยั่งยืนของธุรกิจผ่านกระบวนการผลิตสินค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดอัตราเปอร์เซ็นต์การใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) เป็นส่วนประกอบในการผลิตขวดบรรจุเครื่องดื่มอย่างเป็นขั้นตอน ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์ rPET ในบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มขั้นต่ำ 25% (rPET : PET 25:75) และในหลายประเทศ สามารถเพิ่มการใช้rPET Content ได้ถึง50% และบางแห่งตั้งเป้าถึง100% ในอีก5 ปีนับจากนี้
ในอนาคตอันใกล้ อัตราเปอร์เซ็นต์rPET ในบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม อาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือตั้งกำแพงภาษีทางการค้าในการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากไทย เพราะในมุมมองของประเทศผู้นำเข้าสินค้าเหล่านั้นย่อมถือว่าเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่จะกลายเป็นขยะพลาสติกภายในประเทศตนเองในท้ายที่สุด หากผู้ประกอบการไทยมีเป้าหมายตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไปยังกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็น rPET ก็จำเป็นต้องปรับตัวและเริ่มต้นจัดการกระบวนการใช้ rPET ในบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในประเด็นนี้มาก่อนหน้าแล้วหลายปี แต่ข้อติดขัดสำคัญที่ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็คือ กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้นำrPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่295 พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ภาครัฐควรต้องเร่งเดินหน้าปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการใช้ rPET โดยเร็ว
รัฐไฟเขียวนโยบายBCG โมเดล เร่งมือ อย. ปลดล็อกกฎหมาย
ในช่วง3 ปีก่อนหน้านี้ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ซึ่งมีสมาชิก46 องค์กรเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม และซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มีความพยายามร่วมกันผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าว แต่ความคืบหน้าก็ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า กระทั่งรัฐบาลได้ประกาศใช้BCGModel เป็นวาระแห่งชาติ ทุกภาคส่วนจึงเริ่มขยับ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการนำพลาสติกรีไซเคิล (rPET) มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการผลิตภาชนะบรรจุสัมผัสโดยตรงอาหารและเครื่องดื่ม ความคืบหน้าถึงปัจจุบันคือ มีการกำหนดแนวทางประกาศเกณฑ์อ้างอิงมาตรฐานเพื่อใช้ทดสอบประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลในการกำจัดสารปนเปื้อนตกค้างจากวัตถุดิบ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อ ว่าเกณฑ์อ้างอิงนั้นสามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่ หรือสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการมีความกระตือรือร้นในการใช้ rPET เพิ่มขึ้นหรือไม่ ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าว
แก้ กม.เร็ว เอกชนมีเวลาเตรียมตัว รับโอกาสขยายธุรกิจใหม่
เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก PET แบ่งคุณภาพตามกระบวนการผลิตได้เป็น 2 เกรด ได้แก่ rPET ฟู้ดเกรด และrPET ไฟเบอร์เกรด โดยการรีไซเคิลจากขวดกลับมาสู่ขวดซึ่งใช้ rPET ฟู้ดเกรด ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แม้จะมีผู้ประกอบการรีไซเคิลrPET ฟู้ดเกรดตามมาตรฐานสากล ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องส่งออกrPET ฟู้ดเกรดทั้งหมดไปยังประเทศชั้นนำที่อนุญาตให้ใช้rPET ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มอียู และญี่ปุ่น เป็นต้น
ส่วนการใช้rPET ไฟเบอร์เกรดนำไปแปรสภาพเป็นสินค้าอื่นมีการดำเนินงานอยู่แล้ว เช่น ขึ้นรูปเป็นพลาสติกชิ้นใหม่ ปั่นเป็นเส้นใยโพลิเอสเตอร์ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลิตเป็น เส้นด้าย เสื้อผ้า เครื่องนอน รองเท้า ตุ๊กตา พรม วัสดุบุผนัง ใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานต์ ผลิตเป็นเบาะรถ รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งรถ เป็นต้น ผู้ประกอบการที่อยู่ในวงจรธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก PET ได้แก่ บริษัท อังไถ่ จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลชั้นนำของไทย ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์จากพลาสติกรีไซเคิล100% จำหน่ายในประเทศและต่างประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรปและ สหรัฐอเมริกา นับเป็นองคาพยพหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญกับแนวทางลดการใช้พลาสติกรวมทั้งเพิ่มการนำขยะพลาสติกโดยเฉพาะขวดพลาสติก PET กลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
พัชราภา รวิรุจิพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท อังไถ่ จำกัด กล่าวว่าการเตรียมแก้ไขกฎหมายของ อย. มีความสำคัญกับธุรกิจรีไซเคิลมากทีเดียวเพราะหมายถึงโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการสามารถทำผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น “เรามีความสนใจที่จะศึกษาข้อมูล ประเมินความเป็นไปได้ในหลายประเด็น เพราะถือเป็นการลงทุนใหม่ด้านเทคโนโลยี ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงแต่ก็เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ แม้จะมีความยากแต่ก็เป็นไปได้เพราะเราอยู่ในวงการธุรกิจรีไซเคิลอยู่แล้ว”
พัชราภา ให้ความเห็นว่า การแก้กฎหมายของ อย. เรื่องrPET หากทำได้เร็ว ยิ่งดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะจะสร้างโอกาสการขยายธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ส่งผลต่อเมืองไทยไม่น้อย เพราะนอกเหนือจากการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศแล้ว ธุรกิจรีไซเคิลยังสามารถเพิ่มการผลิตเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่มที่มี rPET เป็นองค์ประกอบได้ เพราะเทรนด์ธุรกิจและการค้าโลกมุ่งไปในทิศทางของการต้อนรับ rPET เป็นองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม ภาครัฐต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจใหญ่หลายแห่งล้วนมีพันธกิจและเป้าหมายว่าด้วยการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลายบริษัทกำหนดเป้าหมายในการใช้เปอร์เซ็นต์rPET เป็นองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ถ้ากฎหมายได้รับการแก้ไขได้เร็ว โดยมีความเป็นไปได้ด้วยในการลงมือปฏิบัติของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการก็มีเวลาในการเตรียมตัวและปรับตัวได้เร็ว
สำหรับการรีไซเคิลวัตถุดิบขวดพลาสติกที่รับซื้อมาจากซัพพลายเออร์หรือจากชุมชน อังไถ่เน้นเรื่องความสะอาดมากที่สุด มีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบการปนเปื้อนของวัตถุดิบในทุกขั้นตอนตั้งแต่หน้าโรงงานไปจนถึงเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล คุณภาพวัตถุดิบขวดPET ที่ดี ก็จะทำให้rPET มีคุณภาพดี นำไปปั่นเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์คุณภาพดี เพื่อใช้ผลิตสินค้าใหม่คุณภาพดีได้ในหลายอุตสาหกรรม
พัชราภา ยังสะท้อนปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการจัดทำระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้เพื่อให้การคัดแยกขยะขวดพลาสติกจากต้นทางช่วยลดการปนเปื้อนลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะจากครัวเรือน สำนักงาน องค์กร ร้านค้าต่างๆ เนื่องจากพลาสติกแต่ละประเภทมีจุดหลอมละลายต่างกัน การนำขวดPET มารีไซเคิลต้องคัดแยกใช้เฉพาะขวดPET เท่านั้น จึงต้องแยก ฝากับฉลากออกไปเพราะเป็นพลาสติกต่างชนิดกัน ไม่สามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลเป็นrPET ได้ ปัจจุบันมีความนิยมในการใช้พลาสติกPET เจือสี หรือมีการสกรีนสีลงบนขวดใส ถือเป็นการลดมูลค่าขวดเมื่อถูกนำไปขายหลังการใช้งานแล้วและลดโอกาสในการนำขวด PET เหล่านี้กลับมารีไซเคิลเป็นrPET คุณภาพดีด้วย