ผู้ว่าฯ อัศวิน ตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ บางแค แห่งที่ 2 โรงเรียนคลองหนองใหญ่ ก่อนเปิดบริการพรุ่งนี้ พร้อมเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตบางแค แห่งที่ 1 ซึ่งเป็นศูนย์พักคอย 1 ใน 7 แห่ง ที่ กทม. ตรียมขยายศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย ปรับเป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม พร้อมเปิดสถิติศูนย์พักคอยฯ บางแค รักษาผู้ป่วยหายกลับบ้านได้กว่า 60%
วันนี้ (8 ส.ค.) เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตบางแค แห่งที่ 2 บริเวณโรงเรียนคลองหนองใหญ่ เขตบางแค โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขตบางแค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยมีเป้าหมายเปิดศูนย์พักคอยฯ ให้ได้มากที่สุด เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ มีการคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตบางแค แห่งที่ 2 โรงเรียนคลองหนองใหญ่ ใช้พื้นที่อาคารเรียน 5 ชั้น 2 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 312 เตียง แบ่งเป็น ผู้ป่วยระดับสีเหลือง/แดง 48 เตียง ผู้ที่มีผลการตรวจ ATK ติดเชื้อ 33 เตียง และผู้ป่วยระดับสีเขียว 231 เตียง โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลบางปะกอก 8 และศูนย์บริการสาธารณสุข 40 บางแค เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 9 ส.ค. 64 นี้
จากนั้น เวลา 11.15 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตบางแค แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) ซึ่งเป็นศูนย์พักคอย 1 ใน 7 แห่ง ที่กรุงเทพมหานครเตรียมขยายศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย โดยได้ปรับเป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการระดับสีเหลืองได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 150 เตียง แบ่งเป็น ชาย 62 เตียง หญิง 77 เตียง พ่อลูกอ่อน 4 เตียง และแม่ลูกอ่อน 7 เตียง โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย
ทั้งนี้ ศูนย์พักคอยฯ เขตบางแค เริ่มรับผู้ป่วยเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เข้าพักในศูนย์พักคอยฯ จำนวนสะสม 443 ราย และพักรักษาจนครบกำหนด 14 วันโดยไม่มีอาการรุนแรง และหายเป็นปกติกลับบ้านได้แล้ว คิดเป็นร้อยละ 60 และส่งต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 20 (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค. 64 เวลา 11.00 น.) ซึ่งศูนย์พักคอยฯ มีความพร้อมในทุกด้านสำหรับการดูแลผู้ป่วย ด้วยทีมแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมยารักษาและเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร ถังออกซิเจน เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อาหารหลัก 3 มื้อ และของใช้จำเป็นอื่น ๆ ให้กับผู้ป่วยด้วย ศูนย์พักคอยฯ ถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ซึ่งกรุงเทพมหานครพร้อมที่จะให้บริการประชาชน เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วที่สุด
ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแล้ว 65 แห่ง สามารถเปิดรับผู้ป่วยได้แล้ว 50 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 8,597 ราย และยังมีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการและประชาชนทั่วไป อีก 5 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 960 ราย นอกจากนี้ยังมีศูนย์พักคอยแบบ Semi Community Isolation อีก 23 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 527 รวมจำนวนศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 93 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 10,084 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ส.ค. 64 เวลา 09.55 น.)
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถโทรติดต่อสายด่วน 1330 หรือ สายด่วนโควิด 50 เขต 20 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับการประเมินเข้าสู่ระบบการรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือเข้าพักที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) หรือโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด