xs
xsm
sm
md
lg

ชัดเจนแล้ว! สธ.คุมเข้ม 29 จังหวัด ซื้ออาหารที่ห้างฯ ต้องสั่งผ่านออนไลน์-ดีลิเวอรีเท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมอนามัย ย้ำชัดเดินซูเปอร์ในห้างฯ ได้ แต่ซื้ออาหารในร้านต้องทำผ่านระบบออนไลน์ ยังไม่เปิดให้ซื้อหน้าร้าน ชี้ เป็นรูปแบบที่เคยทำแล้วในปี 63 คุมเข้มไรเดอร์หากไม่ปฎิบัติตามมาตรการเคร่งครัดมีโทษปรับสูงสุดถึง 20,000 บาท

วันนี้ (3 ส.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มาตรการที่ใช้กับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 64 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้น จะให้จำหน่ายอาหารผ่านช่องทางดีลิเวอรีเท่านั้น โดยจะไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการติดต่อระหว่างผู้จำหน่าย และผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคมีความประสงค์ซื้ออาหารจากร้านค้าโดยตรง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์นั้นๆ รวมถึงสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต้องสามารถจัดให้มีดีลิเวอรีเซอร์วิส โดยมีระบบการสั่งผ่านทั้งระบบออนไลน์ ระบบโทรศัพท์ หรือระบบพนักงานให้ความช่วยเหลือ ที่ไม่ให้ผู้บริโภคไปซื้ออาหารกับผู้จำหน่ายโดยตรง ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ ได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่มีการปิดห้างสรรพสินค้า แต่อนุญาตให้ร้านอาหารมีการจำหน่าย แต่เป็นการจำหน่ายที่ไม่ให้ผู้บริโภคไปแออัดอยู่ที่หน้าร้านโดยตรง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมา ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากเกินกว่าที่ความสามารถของระบบสาธารณสุขจะรองรับไหว จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อ ในขณะเดียวกัน ทางภาครัฐก็อยู่ระหว่างการพิจารณาการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย

 


ทั้งนี้ มาตรการควบคุมที่ใช้กับร้านอาหารที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 64 ที่ทุกพื้นที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ราชการกำหนด ได้แก่

พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด (จำนวน 29 จังหวัด) ห้ามบริโภคอาหารภายในร้าน จำหน่ายอาหารแบบนำไปบริโภคที่อื่น ในห้างสรรพสินค้าจำหน่ายได้เฉพาะดีลิเวอรี (Delivery Service) และงดจำหน่ายหน้าร้าน โดยระยะเวลาให้บริการไม่เกิน 20.00 น. ทั้งนี้ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

พื้นที่ควบคุมสูงสุด (จำนวน 37 จังหวัด) สามารถนั่งบริโภคในร้านได้ตามปกติ โดยระยะเวลาให้บริการไม่เกิน 23.00 น. ทั้งนี้ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

พื้นที่ควบคุม (จำนวน 11 จังหวัด) นั่งบริโภคในร้านได้ตามปกติ โดยระยะเวลาให้บริการสามารถเปิดได้ตามปกติภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

โดยมาตรการป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ได้แก่ 1. จัดให้มีระบบการคัดกรอง 2. ตรวจสอบการลงทะเบียนผู้ขนส่งอาหาร ก่อนเข้ามาในอาคารหรือพื้นที่ 3. การจัดระบบคิว 4. กำหนดพื้นที่เป็นเฉพาะสำหรับการรอคิว 5. มีบริเวณพักคอย ซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม และ 6. ต้องกำกับดูแลให้มีการดำเนินมาตรการดังกล่าว

ด้านมาตรการสำหรับร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า ที่จัดบริการดีลิเวอรี มีข้อปฎิบัติตนดังนี้ จัดเส้นทางเข้า-ออก ที่ชัดเจน กำหนดจุดคัดกรอง และลงทะเบียน หากมีอาการป่วยให้หยุดงานและไปพบแพทย์, สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา, ล้างมือให้ถูกต้อง และมีจุดบริการล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์, งดการรวมกลุ่ม, อาหารต้องปรุงสุกใหม่ โดยเนื้อสัตว์ต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานเกิน 5 นาทีขึ้นไป, จัดหาภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท และต้องปกปิดมิดชิด, มีการติดฉลากที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ชื่อร้าน วันหมดอายุ, ร้านอาหารต้องประเมิน Thai Stop COVID Plus และติดประกาศชัดเจน, จัดสถานที่เหมาะสม มีโต๊ะรับ-ส่งอาหารที่เว้นระยะห่าง และมีการระบายอากาศที่ดี และทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โต๊ะรับ-ส่งอาหารทุกครั้งหลังการรับส่งอาหาร

ส่วนมาตรการสำหรับพนักงานจัดส่งอาหาร มีข้อปฎิบัติ ดังนี้ คัดกรองและประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และบันทึกข้อมูล หากมีอาการป่วยให้หยุดงานและไปพบแพทย์ทันที, กล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะแข็งแรง ปกปิดมิดชิด และทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน, สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา, ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์, รอรับอาหารในจุดที่ร้านกำหนด, งดการรวมกลุ่ม พูดคุย สูบบุหรี่ และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ณ จุดพักคอย, ตรวจสอบกล่องบรรจุอาหารทันทีหลังได้รับจากร้านอาหาร เช่น ความสะอาด, ไม่เปิดกล่องบรรจุอาหารจนกว่าจะถึงมือผู้สั่งซื้อ และก่อนเปิดกล่องทุกครั้งต้องล้างมือให้สะอาด และทำความสะอาดมือ และถุงมือก่อนและหลังการรับ-ส่งอาหาร

ทั้งนี้ สำหรับปัญหาพนักงานจัดส่งอาหารที่มีพฤติกรรมรวมกลุ่ม พูดคุย สูบบุหรี่ และไม่สวมหน้ากากอนามัย ที่ส่งผลต่อความกังวลของผู้บริโภคต่อความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในส่วนของพนักงาน Full Time ผู้ประกอบการจะมีความเข้มงวดต่อมาตรการในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในส่วนของพนักงาน Part Time อาจเกิดปัญหาการละเลยได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีบทลงโทษจากข้อกำหนดตามมาตรา 9 ร่วมกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ที่กำหนดไว้ว่ากรณีที่อยู่นอกเคหะสถาน แล้วไม่สวมหน้ากากอนามัยจะมีความผิด

ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีการออกระเบียบตามมาตรา 34(6) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 ว่าด้วยการกำหนดความผิดจากการรวมกลุ่ม ไม่ใส่หน้ากาอนามัย พูดคุย สูบบุหรี่ หรือทำกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ร่วมกัน โดยหากมีความผิดครั้งแรก มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่สองมีโทษปรับไม่เกิน 1,000-10,000 บาท และครั้งที่สามมีโทษปรับไม่เกิน 10,000-20,000 บาท ซึ่งเจ้าคณะกรรมการตามกฎหมาย และคณะกรรมการโรคติดต่อของกทม. และจังหวัด มีหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว

ในส่วนของมาตรการสำหรับผู้สั่งซื้อ หรือผู้รับบริการ มีข้อปฏิบัติ ดังนี้ หลีกเลี่ยงการสั่งอาหารเสี่ยง เช่น อาหารปรุงไม่สุก อาหารเสียง่าย, ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน หลีกเลี่ยงการชำระเงินสด หรือการสัมผัสกับคนส่งอาหาร, มีจุดหรือภาชนะ สำหรับรับอาหาร เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร, สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องระหว่างการรับอาหาร และหลีกเลี่ยงการพูดคุย, ล้างมือด้วยสบู่หรือ เจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังได้รับอาหาร, ตรวจสอบคุณภาพอาหารก่อนรับอาหาร หรือก่อนบริโภค เช่น การบรรจุหีบห่อ กลิ่นอาหาร ความสะอาด และรีบนำอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์ที่น่าส่งมาใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ทันที














กำลังโหลดความคิดเห็น