xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ อัศวิน ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ "ประเวศ-บึงกุ่ม-คันนายาว" เปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 โซนกรุงเทพตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมกับ เพจ "เราต้องรอด-หมอแล็บแพนด้า" ตรวจศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตประเวศ และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตคันนายาว เตรียมเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 ต้นเดือน ส.ค.นี้

วันนี้ (31 ก.ค. ) เมื่อเวลา 09.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ประกอบด้วย ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตประเวศ บริเวณอาคารศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนองบอน ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตบึงกุ่ม บริเวณโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตคันนายาว บริเวณอาคารฝั่งตรงข้ามสยามอะเมซิ่งพาร์ค สวนสยาม โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขตในพื้นที่ เพจ “เราต้องรอด” คุณได๋ ไดอาน่า จงจินตนาการ หมอแล็บแพนด้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ เพื่อรอการส่งต่อไปรักษา ณ สถานพยาบาลตามการประเมินจากแพทย์ สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตประเวศ ใช้พื้นที่อาคารศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนองบอน ชั้น 2 สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 120 เตียง แบ่งเป็น ชาย 58 เตียง และหญิง 62 เตียง โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสิรินธร และศูนย์บริการสาธารณสุข 57 บุญเรือง ล้ำเลิศ เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 1 ส.ค.64

จากนั้น เวลา 10.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตบึงกุ่ม ซึ่งตั้งอยู่ที่ อาคาร 2 โรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 124 เตียง แบ่งเป็น ชาย 62 เตียง และหญิง 62 เตียง โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพญาไทนวมินทร์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 50 บึงกุ่ม และศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย พร้อมเปิดให้บริการในวันที่ 31 ก.ค.นี้

ต่อมา เวลา 11.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตคันนายาว ซึ่งตั้งอยู่ที่ อาคารฝั่งตรงข้ามสยามอะเมซิ่งพาร์ค สวนสยาม สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 127 เตียง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมและตรวจสอบระบบต่างๆ อาทิ จุดคัดกรองผู้ป่วย จุดวัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจน จุดบริการอาหารและน้ำดื่ม ติดตั้งเตียง จัดวางที่นอน ตรวจสอบและติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบเสียงตามสาย ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบอินเตอร์เน็ต ติดตั้งพัดลม ฉีดพ่นยากำจัดยุงลาย ทำความสะอาดห้องน้ำและห้องสุขา ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ ตลอดจนสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ สนธิกำลังกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่และฝ่ายความมั่นคง ร่วมดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 คันนายาว เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 5 ส.ค.64

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยมีเป้าหมาย 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย โดยได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของสถานที่ ความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออก พร้อมปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสม มีองค์ประกอบครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ มีการคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแล้ว 60 แห่ง สามารถเปิดรับผู้ป่วยได้แล้ว 39 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 7,499 ราย และยังมีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการและประชาชนทั่วไป อีก 2 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 396 ราย โดยเปิดให้บริการแล้ว 1 แห่ง รวมจำนวนศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งพร้อมเปิดให้บริการแล้วขณะนี้ จำนวน 40 แห่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 62 แห่ง ซึ่งหากเปิดให้บริการได้ครบทุกศูนย์ฯ จะสามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 7,895 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 64 เวลา 11.00 น.) นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ขยายศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย โดยได้ปรับศูนย์พักคอยเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 7 แห่ง เพิ่มเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยที่อาการรุนแรง โดยใช้นวัตกรรม Modular ICU ที่โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 1 จำนวน 4 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้ 40 เตียง รวมทั้งได้จัดเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรงอีก 16 เตียง ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน








































กำลังโหลดความคิดเห็น