กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ศูนย์พักคอยวัดราษฎร์นิยมธรรม และศูนย์สร้างสุขทุกวัย เยี่ยมชมการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังตกค้างในชุมชนได้แยกกักตัว ลดปัญหาการแพร่ระบาดในครอบครัวและชุมชน พร้อมแนะ 13 แนวทาง การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน
วันนี้ (28 ก.ค.) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ เยี่ยมชมศูนย์พักคอยวัดราษฎร์นิยมธรรม เขตสายไหม และศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ว่า จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทั้งในครอบครัว และชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ติดเชื้อรายวันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กรุงเทพมหานครมีแผนให้สำนักงานเขตรับผิดชอบเปิดศูนย์พักคอยอย่างน้อยเขตละ 1 ศูนย์ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ล่าสุดดำเนินการแล้วเสร็จ 21 เขต โดยได้เปิดรับผู้ป่วยไปแล้ว ช่วยให้ผู้ป่วยที่ยังตกค้างในชุมชนได้แยกกักตัว ลดปัญหาการแพร่ระบาดในครอบครัวและชุมชน รวมถึงให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการดูแลเบื้องต้นโดยทีมแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหากพบผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเหลืองและสีแดงก็จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลภูมิพลที่จะรับรักษาดำเนินการต่อไป โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ใช้สถานที่วัดจัดตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งต่อแล้วจำนวน 6 วัด ได้แก่ วัดอินทรวิหาร เขตพระนคร วัดสะพาน เขตคลองเตย วัดปากบ่อ เขตสวนหลวง วัดสุทธิวราราม เขตสาทร วัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย และ วัดไทร เขตบางคอแหลม
"สำหรับศูนย์พักคอยวัดราษฎร์นิยมธรรม ด้รับความร่วมมือจากพระครูอาทรวุฒิคุณ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์นิยมธรรม แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอมฤต สุวรรณทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสายไหม และเครือข่ายสายไหม ต้องรอด ช่วยดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้มอบให้กรมอนามัยเข้ามามีส่วนช่วย ในการให้คำแนะนำเรื่องการจัดระบบสุขาภิบาล มีกระบวนการกําจัดเชื้อโรค และมีระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อสิ่งปฏิกูล การจัดการน้ำเสียที่เหมาะสมก่อนทิ้งลงสู่ชุมชน และการสร้างสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ถูกต้อง โดยระหว่างการเปิดดำเนินการศูนย์พักคอยในชุมชน ทั้งที่วัดราษฎร์นิยมธรรมและศูนย์สร้างสุขทุกวัย ได้มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้ 1) มีระบบลงทะเบียนรับผู้ป่วยเข้ามาในศูนย์แยกกักตัว 2) ดำเนินการด้านการรักษา โดยระบบแพทย์ทางไกลตามแนวทางของกรมการแพทย์ 3) มีการดำเนินการเรื่องอาหาร ระบบระบายอากาศ ระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำเสีย ระบบการจัดการกับสิ่งปฏิกูลและระบบสุขาภิบาลตามแนวทางการดำเนินงานศูนย์แยกกักตัวในชุมชน 4) เฝ้าระวังเรื่องการรักษาความปลอดภัยบริเวณศูนย์แยกกักตัวในชุมชน และ 5) มีการส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยร่วมด้วย ทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต ทั้งนี้ การลงพื้นที่ศูนย์พักคอยในครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์พักคอย พร้อมรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แนวทางบริหารในการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนสามารถดำเนินการได้ดังนี้ 1) สถานที่จัดตั้งมีการถ่ายเทอากาศได้ดี 2) มีวัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จําเป็น เช่น เครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่ม เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตัวทางการแพทย์ อุปกรณ์ทำความสะอาด 3) มีการปฐมนิเทศการปฏิบัติงาน ตลอดจนการกํากับดูแลการทํางานของบุคลากรโดยเฉพาะอาสาสมัคร 4) ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นไปตามสถานพยาบาลคู่สัญญา มีช่องทางในการติดต่อแพทย์ หรือพยาบาล พร้อมวัดอุณหภูมิ วัดความดันโลหิต ความเข้มข้นของออกซิเจน อัตราการหายใจ สำหรับการรักษาให้เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข 5) ระบบการขนส่งต่าง ๆ รวมถึงระบบการส่งต่อผู้ป่วย 6) ระบบการเชื่อมโยงและระบบสื่อสาร เช่น ระบบเวชระเบียน การติดต่อสื่อสารทั่วไป 7) ระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ 8) ระบบสนับสนุน รวมถึงการจัดการด้านสาธารณูปโภคที่พักบุคลากร โภชนาการ เครื่องปั่นไฟ เครื่องกรองน้ำ ประปาสนาม 9) ระบบสุขาภิบาล มีกระบวนการกําจัดเชื้อโรค รวมถึงการจัดสัดส่วนห้องอาบน้ำ ห้องสุขา สำหรับผู้ป่วย และมีระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ สิ่งปฏิกูล การจัดการน้ำเสียที่เหมาะสม 10) ระบบรักษาความปลอดภัย และป้องกันการก่อเหตุร้าย หากเป็นไปได้ควรมีระบบกล้องวงจรปิด 11) ระบบป้องกันอัคคีภัย และการซ้อมแผนจัดการอัคคีภัย 12) งานสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา เพื่อลดความกังวล และความเครียดของผู้ป่วย รวมถึงทีมบุคลากรทางการแพทย์ และ 13) การจัดระบบการสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไป