xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ผนึกกำลังสู้โควิด! Bangkok CCRT ปูพรมตรวจชุมชนเสี่ยงถึงประตูบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)  องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน  อาสาสมัครสาธารณสุข  และจิตอาสาพระราชทาน 904  นำทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก  Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team (Bangkok CCRT)  เคาะประตูบ้าน  ปูพรมตรวจเชิงรุกตามชุมชน คัดกรองผู้ป่วยออกจากครอบครัวให้เร็วที่สุด  เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตามอาการต่อไป   นับเป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่มีเป้าหมาย   เพื่อลดการแพร่เชื้อได้ดีอีก   วิธีหนึ่ง

“การตรวจเชิงรุกเช่นนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญอย่างมากในเวลานี้ เพราะนอกจากจะช่วยค้นหาผู้ป่วยในชุมชนที่ยังตกค้างได้แล้ว ยังสามารถลดความแออัดจากการเดินทางไปตรวจ  ณ  สถานที่ตรวจเชิงรุก  ที่เสี่ยงติดหรือแพร่เชื้ออีกทางหนึ่ง  ทั้งยังถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนทั่วไป  รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง  ให้สามารถเข้ารับการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว


Bangkok CCRT กว่า 166 ทีม กระจายลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในชุมชน 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กลุ่มกรุงเทพเหนือ กลุ่มกรุงเทพกลาง กลุ่มกรุงเทพตะวันออก กลุ่มกรุงเทพใต้ กลุ่มกรุงธนเหนือ กลุ่มกรุงธนใต้ โดยพุ่งเป้าไปที่ชุมชนเสี่ยง รวมถึงกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit   ซึ่งจะทราบผลภายใน 30 นาที

“ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อและสามารถแยกกักตัวที่บ้านเองได้ (HI :Home Isolation)  ก็จะให้คำแนะนำ  พร้อมมอบยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ทั้งสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน และชุด HI สำหรับผู้ติดเชื้อ ที่แยกกักที่บ้าน  รวมทั้งชุด Home Quarantine ให้แก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว”   ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร   กล่าวเพิ่มเติม


ด้านผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ก็จะส่งต่อสู่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ที่กรุงเทพมหานคร เปิดรองรับกว่า 58 ศูนย์ ใน 50 เขต ส่วนกลุ่มที่มีผลตรวจเป็นลบก็จะมีการสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่ม “608” เพื่อลดอาการป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตในชุมชน เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ

ด้าน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลถึงผลการดำเนินงานของทีม Bangkok CCRT ที่ผ่านมาว่า
 “สำหรับผลการดำเนินงาน Bangkok CCRT ระหว่างวันที่ 15-24 กรกฎาคม 2564 ได้จัดทีมลงพื้นที่ชุมชนแล้ว 1,317 แห่ง    มีประชาชนเข้ารับบริการแล้ว 57,767 ราย   ให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว 42,080 ราย  ในกลุ่มผู้สูงอายุ  ผู้มีโรคประจำตัว  และ  หญิงตั้งครรภ์”

โดยกลุ่ม 608 ดังกล่าว ประกอบไปด้วย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน และกลุ่มสุดท้ายคือ หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป


ด้าน นาวาอากาศตรีหญิง ปอฤทัย  บุรพรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 6 สโมสรวัฒนธรรมหญิง ได้กล่าวถึงภารกิจในครั้งนี้ ไว้ว่า เนื่องจากการทำงานเชิงรุกนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และอยู่ในมิติของการควบคุมโรคที่สำนักอนามัยทำมาตลอด   จึงมองว่า การตรวจเชิงรุก รวมไปถึงการฉีดวัคซีนตามชุมชนนั้น เป็นประโยชน์อย่างมากเนื่องจากการเข้าถึงจุดตรวจหรือจุดฉีดวัคซีนสำหรับบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้นค่อนข้างลำบาก

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ก็ไม่ได้สร้างความกังวลให้แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องมีการเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังตัวในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในสถานที่ที่คนมารวมตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งการรักษาระยะห่างก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่

“นอกจากเรื่องการระมัดระวังตัว  ก็มีเรื่องการนัดหมาย  การให้ความรู้กับประชาชน  รวมไปถึงการตรวจในแต่ละครั้งด้วย  
ที่เราจะเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ” นาวาอากาศตรีหญิง ปอฤทัย บุรพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม


ในส่วนของ “ด่านหน้า” อย่าง นางสืบสิริ   บุญสม  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  (ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 สโมสรวัฒนธรรมหญิง) ก็ได้กล่าวถึงการปฏิบัติงานในครั้งนี้ว่า  ไม่ได้มีความกังวลในการทำงาน   เนื่องจากตลอดการปฏิบัติงานได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ชุมชน หน่วยงานต่างๆ และที่จะขาดไม่ได้ ก็คือ ประชาชนในพื้นที่ที่ให้ความสนใจในการมารับบริการ พร้อมฝากคำแนะนำให้ประชาชนดูแลตนเองอยู่เสมอ ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และรักษาระยะห่างแม้กระทั่งตอนอยู่บ้าน


ด้านจิตอาสาพระราชทาน 904 หนึ่งในแรงสนับสนุนจากหลายๆ หน่วยงานก็ได้ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมช่วยเหลือการปฏิบัติงานของทีม  Bangkok CCRT  ในครั้งนี้เช่นกัน   โดยหนึ่งในตัวแทนจิตอาสาอย่าง นางจารุพักตร์    กาญจนพิบูลย์  จิตอาสาพระราชทาน หน่วยราชการในพระองค์ 904 และประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ได้กล่าวถึงความภูมิใจที่ได้มีเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้ห่างไกลจากโควิด-19  ซึ่งประชาชนที่เข้ามารับบริการก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“ในส่วนของงานจิตอาสา วันนี้เรามาเพื่อมาจัดระเบียบและดูแลความเรียบร้อยให้กับประชาชน เพื่อที่ให้การปฏิบัติงานในทุกๆ ภาคส่วนนั้น ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น” นางจารุพักตร์ กาญจนพิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติม


ปัจจุบัน Bangkok CCRT ได้เข้าตรวจชุมชนเสี่ยง 100-150 ชุมชนต่อวัน  โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค ที่ผ่านมา พร้อมตั้งเป้าลงพื้นที่ 2,016 ชุมชน ภายใน 31 ก.ค. นี้ ให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากที่สุด เพื่อผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

โดยแต่ละชุมชนจะได้รับความร่วมมือจากประธานชุมชน ที่ต้องไปทำความเข้าใจกับลูกบ้าน   พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรอง โดย นางสาวเพ็ชรรัตน์ มูลศาล ประธานชุมชนวัดเทวราชกุญชรก็ได้กล่าวถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า  ตนจะทำการเดินเคาะประตูทุกบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่ต้องการตรวจและฉีดวัคซีน ซึ่งในฐานะประธานชุมชนก็มีหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือลูกบ้านร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) อยู่แล้ว

“ขอบคุณทางกรุงเทพมหานครที่ช่วยเหลือในเรื่องการตรวจเชิงรุก และการฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชน ซึ่งทำให้ลูกบ้านได้รับการบริการอย่างทั่วถึง” นางสาวเพ็ชรรัตน์ มูลศาล กล่าวเพิ่มเติม


ด้านประชาชนที่เข้ารับบริการการฉีดวัคซีนอย่าง  นางสาวธนาวรรณ   เล้าสุวรรณเวช  เล่าว่า  ตอนนี้ตนเองอายุ 22 ปี และ  ตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์แล้ว วันนี้มารับบริการฉีดวัคซีนเพราะเคยตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แต่ก็คิดว่า มาฉีดเพื่อป้องกันไว้ก่อนดีกว่า 
 โดยตนเองได้รับการแจ้งจากประธานชุมชนว่า จะมีการให้บริการการฉีดวัคซีน ซึ่งตนมองว่า เป็นเรื่องที่ดีและสะดวกที่มีการตรวจเชิงรุกและการฉีดตามชุมชนแบบนี้

ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับการตรวจ และยืนยันว่า มีการติดเชื้อ สามารถประสานสายด่วน 1669, 1668 หรือ 1330   ทั้งสามหมายเลข เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อ

ทั้งหมดนี้ต้องยอมรับในความทุ่มเทและเสียสละ ทั้งแรงกาย แรงใจ จากทุกหน่วยงานที่เข้ามาร่วมเป็นพลังในการต่อสู้กับภัยโรคระบาดครั้งนี้ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยความหวังว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น