xs
xsm
sm
md
lg

กทม. ตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตมีนบุรี คลองสามวา และพระโขนง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตมีนบุรี ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตคลองสามวา และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตพระโขนง เผยกทม.จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้ว 52 แห่ง ในพื้นที่ 49 เขต เปิดบริการแล้ว 27 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,454 เตียง มีผู้ป่วยพักคอย 1,662 เตียง เหลือเตียงว่าง 1,792 เตียง ยอดผู้ป่วยพักคอยสะสมตั้งแต่เปิดบริการ 2,740 ราย

วันนี้ (25 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตมีนบุรี ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตคลองสามวา และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตพระโขนง โดยมี ผู้บริหารเขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตพระโขนง โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา ศูนย์บริการสาธารณสุข 32 มาริษ ตินตมุสิก และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลและร่วมคณะ

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตกค้างรอเตียงในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (Home Isolation : HI) โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ เพื่อรอการนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายจัดตั้งอย่างน้อย 1 เขต 1 ศูนย์พักคอยฯ ให้ครบ 50 สำนักงานเขตภายในสิ้นเดือน ก.ค. 64 ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้ว 52 แห่ง ในพื้นที่ 49 เขต เปิดบริการแล้ว 27 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,454 เตียง มีผู้ป่วยพักคอย 1,662 เตียง เหลือเตียงว่าง 1,792 เตียง ยอดผู้ป่วยพักคอยสะสมตั้งแต่เปิดบริการ 2,740 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค. 64)

สำหรับ “ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตมีนบุรี” จัดตั้ง ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี รองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 85 เตียง และผู้ป่วยหญิง 115 เตียง โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี สำนักอนามัย และโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ดูแลและประเมินอาการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์เพียงเล็กน้อย ความคืบหน้าโดยรวม 90% จะทำการทดสอบระบบวันที่ 26 - 27 ก.ค. 64 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในวันที่ 29 ก.ค. 64

ส่วน “ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตคลองสามวา” จัดตั้ง ณ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยคลองสามวา รองรับผู้ป่วยได้ 174 เตียง แบ่งเป็นสำหรับครอบครัว 14 เตียง ผู้ป่วยชาย 80 เตียง และผู้ป่วยหญิง 80 เตียง โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 64 คลองสามวา สำนักอนามัย และโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ดูแลและประเมินอาการ ด้าน “ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตพระโขนง” จัดตั้ง ณ วัดบุญรอดธรรมาราม เขตพระโขนง โดยได้รับความเมตตาจากพระครูสุกิจจาภิรม เจ้าอาวาสวัดบุญรอดธรรมารามอนุญาตให้ใช้ศาลาการเปรียญจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ รองรับได้ 50 เตียง ผู้ป่วยชาย 25 เตียง และผู้ป่วยหญิง 25 เตียง โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข 32 มาริษ ตินตมุสิก สำนักอนามัย ดูแลและประเมินอาการ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ ติดตั้งเตียง ชุดเครื่องนอน ระบบไฟฟ้า เสียงตามสาย ติดตั้งกล้อง CCTV ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะติดเชื้อ และระบบรักษาความปลอดภัย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในวันที่ 30 ก.ค. 64

ในวันเดียวกันนี้ เวลา 09.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเขตบึงกุ่ม เพื่อช่วยแยกผู้ติดเชื้อจากครอบครัวและชุมชน ดูแลผู้ป่วยรอเตียงและตกค้าง ระหว่างรอนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษา อีกทั้งเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมี คณะผู้บริหารเขตพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมคณะและให้ข้อมูล ณ โรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ เขตบึงกุ่ม

สำหรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ใช้พื้นที่บริเวณชั้น 1 อาคารสุขุม-เมธ์วดี โรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ จัดตั้งเป็นศูนย์ฯ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 50 เตียง และผู้ป่วยหญิง 50 เตียง โดยมีโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ บริหารจัดการผู้ป่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าเปิดให้บริการได้ภายในวันที่ 31 ก.ค. 64








































กำลังโหลดความคิดเห็น