xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโลก ‘teen’!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบบทความ
ช่วงที่ครอบครัวเราเก็บตัวอยู่บ้านเพราะสถานการณ์โควิด-19 พยายามรักษาตัวไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะไม่อยากไปโรงพยาบาล และไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับบรรดาคุณหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับมือกับสถานการณ์วิกฤตอยู่ทุกวัน แต่แล้วเจ้าลูกชายคนเล็ก “สิน สิทธิสมาน” ก็มีเหตุที่ต้องไปถึงมือหมอ เพราะปัญหาเรื่องเท้า จึงพยายามหาข้อมูล จนกระทั่งไปพบคลินิกเฉพาะทางและการรักษาแบบ Telemedicine ซึ่งกลายมาเป็นความประทับใจเล่าเรื่องผ่านคอลัมน์นี้

……….

ขอสวัสดีมายังเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่าน…

ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้กว่า 21 ปี ผมเพิ่งได้รับรู้ระดับประสบการณ์ตรงเมื่อ 2 วันก่อนนี้เองว่าโลกใบนี้ในประเทศเรามี ‘หมอเท้า’ หรือคลินิกที่รับรักษาเรื่องเท้าโดยเฉพาะอยู่ด้วย แล้วก็มีวิธีการรักษาที่ทันสมัยเสียด้วย แบบนี้ไม่เล่าไม่ได้แล้วล่ะ…

เรื่องมันเริ่มต้นแบบนี้….

ต้องเท้าความก่อนครับว่าผมเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาอย่างมาก ยิ่งกีฬาที่ใช้เท้า จะยิ่งชอบมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล

ในช่วงชีวิตที่เตะฟุตบอลมามากกว่า 15 ปี ผมมักจะเจ็บบริเวณหัวนิ้วโป้งทั้ง 2 ข้างเป็นประจำ อาจเป็นเพราะเราเล่นกีฬาที่ใช้เท้าก็มักจะเสียดสีกับพื้น หรือไม่ก็ลูกบอลอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดอาการเจ็บบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยความที่ไม่รู้ ผมมักคิดว่ามันเป็นเพราะเล็บยาว เลยพยายามตัดเล็บเข้าไปให้ลึก ๆ อยู่เป็นประจำ เพราะคิดว่าการที่ตัดเล็บให้ยิ่งสั้นจะทำให้การเจ็บลดลง แต่พอผมตัดเสร็จ อาการเจ็บของผมก็ทุเลาไปบ้างแต่ไม่ถึงกับหายไปเสียทีเดียว

เมื่อเจ็บอีกครั้ง ผมก็มักจะแก้ไขด้วยวิธีการแบบนี้อยู่เสมอ ๆ จนเป็นปกตินิสัย

แต่เมื่อสักเดือนที่ผ่านมานี้เอง ผมเกิดอาการเจ็บแบบเช่นเคย ก็ยังคงใช้วิธีการตัดเล็บแบบเดิม แต่คราวนี้สิ่งที่ต่างออกไปคือผมดันตัดลึกเกินไป และตัดไปโดนเนื้อข้างเล็บบางส่วน ทำให้มีเลือดไหลออกมานิดหน่อย ด้วยความที่คิดว่ามันไม่เป็นไรมาก เลยแค่ล้างแผล และไม่ได้ใส่ใจอะไรกับมันเท่าไรนัก จนเวลาผ่านไปสัก 1 อาทิตย์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริเวณหัวนิ้วโป้งเท้าซ้ายมีอาการอักเสบและบวมขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่ามันจะยุบ และเริ่มมีหนอง เอาละสิ…ทำไงดี…

ผมจึงได้ศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต จึงได้รู้ว่าสิ่งที่กำลังมาเยือนนั้นคืออาการที่เรียกว่า…

“เล็บขบ”

หลังจากที่รู้ ผมก็พยายามหาเล็บส่วนที่มันยังแทงเนื้อ และตัดให้หมดไป พยายามทายาสำหรับรักษาแผลที่เกิดจากเล็บขบโดยเฉพาะที่คุณแม่ซื้อมาให้อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้แผลจะดีขึ้นบ้าง แต่ที่ไม่ดีขึ้นเลยคืออาการเจ็บเวลาที่นิ้วโป้งเท้าซ้ายกระทบกับอะไรก็ตาม แม้จะแค่เบา ๆ ก็ทำให้ร้องจ้ากขึ้นมาเลย คุณพ่อเตือนว่าควรไปหาหมอดีกว่า ท่านเล่าว่าสมัยเป็นเด็กท่านก็เล็บขบบ่อย จนไม่หายเจ็บเสียที สุดท้ายหมอดูแผลแล้ววินิจฉัยให้รักษาโดยการถอดเล็บ โดยไปขึ้นเตียงทำผ่าตัดเล็กที่โรงพยาบาลวชิระ

เป็นเล็บหัวแม่เท้าข้างซ้ายเสียด้วย !

ปกติถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ผมไม่ค่อยอยากไปหาหมออยู่แล้ว ยิ่งช่วงนี้โควิดยังอาวะวาดหนักด้วย จึงขอดูอาการตัวเองอีกวันสองวัน แต่สุดท้ายก็ไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก เริ่มไม่อยากจะทน จึงบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าช่วยพาไปหาหมอหน่อยเถอะ

คุณพ่อได้หาข้อมูลอยู่พักหนึ่ง ก็สนใจคลินิกหนึ่งที่รักษาโรคเกี่ยวกับเท้าโดยเฉพาะ รวมทั้งเล็บขบด้วย ท่านตื่นเต้นใหญ่บอกผมกับคุณแม่ว่าเพิ่งได้ความรู้ใหม่ว่าบ้านเรามีคลินิกเฉพาะทางว่าด้วยเรื่องเล็บขบด้วย ในที่สุดคุณพ่อก็จิ้มที่คลินิกและคุณหมอท่านหนึ่ง เพราะอยู่บริเวณเชิงสะพานวันชาติใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ไกลจากบ้านเรานัก

พอเริ่มติดต่อก็ได้พบกับประสบการณ์ใหม่แล้ว เพราะทางคลินิกขอให้แอดไลน์เข้าไปก่อน แล้วตั้งเป็นไลน์กรุ๊ปโดยเฉพาะ มีผม เจ้าหน้าที่คลินิก และคุณหมอ 3 คนเข้ามาสอบถามอาการ โดยผมถ่ายรูปหัวแม่เท้ามุมต่าง ๆ ส่งเข้าไปเพื่อให้หมอวินิจฉัยก่อนไปที่คลินิกตามนัด

โห ได้ยินเรื่อง Telemedicine มานานวัน เพิ่งเจอกับตัววันนี้เอง

ผมกับคุณพ่อไปถึงคลินิกด้วยความสบายใจ เพราะจากการวินิจฉัยทางไลน์ คุณหมอบอกไม่มีการถอดเล็บหรอก แค่ตัดข้างเล็บออกเท่านั้น

เมื่อไปถึง สิ่งที่สังเกตได้จากด้านหน้าของคลินิกคือมีรองเท้าตัวอย่างอยู่เต็มกระจกโชว์ด้านหน้า พอเดินเข้าไปข้างใน สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ให้ทำก็คือ การเหยียบเท้าทั้งสองของเรา - ครับ ‘เรา’ หมายถึงทั้งผมและคุณพ่อ - ผ่านหมึกที่จะปั้มใส่ในกระดาษเพื่อที่จะดูรูปลักษณะเท้าของเราว่าเป็นอย่างไร การเดินเป็นแบบไหน เพราะลักษณะของเท้าและการเดินของแต่ละคนจะส่งผลต่อร่างกายของแต่ละคนอย่างไรบ้าง

การเดินของผมเป็นการเดินแบบคนเท้าสูง ส่วนคุณพ่อเป็นการเดินแบบคนเท้าแบน

เห็นมั้ยล่ะครับ น่าสนใจตั้งแต่เริ่มเลย

เอาหล่ะ หลังปั๊มเท้าเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็พาผมไปนอนรออยู่บนเตียง แล้วอธิบายอาการเล็บขบของผมไว้อย่างละเอียดว่ามันเกิดมาจากอะไร และวันนี้ผมต้องผ่าเล็บด้านข้างออกเพื่อให้อาการเจ็บหายไป และจัดการไม่ให้เล็บด้านข้างที่ขึ้นใหม่ไม่เกิดขบขึ้นมาซ้ำอีก โดยมีคลิปวิดิโอให้ดูด้วย

จากนั้นคุณหมอก็เล่าเรื่องราวเล็บขบแบบให้เข้าใจง่ายเพิ่มเติมอีกรอบหนึ่ง

“เล็บขบนี่เป็นเรื่องของเล็บกับเนื้อทะเลาะกัน เล็บไปแทงเนื้อ คนมักจะโทษเล็บ แต่หมออยากจะให้ความเป็นธรรมกับเล็บเสียหน่อยว่าเล็บเขาไม่ได้ผิดอะไรนะ…”

แค่ Intro ของคุณหมอก็น่าสนใจแล้วใช่มั้ยล่ะ

“คืออย่างนี้ คุณสินเคยไป ‘ตลาดร่มหุบ’ มั้ย…”

ผมรู้สึกเพียงว่าชื่อคุ้น ๆ แต่คุณพ่อรู้จักว่าหมายถึงตลาดริมทางรถไฟสายเก่าที่สมุทรสงคราม เป็น Unseen Thailand ที่โด่งดังไปทั่วโลก เป็นตลาดเก่าแก่ที่พ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงขายประชิดรางรถไฟ กางร่มกันแดดกันฝนล้ำรางรถไฟตลอดแนว แต่พอเวลารถไฟผ่าน ก็จะหุบร่มและผลักเอนแนวร่มให้พ้นรางรถไฟพอให้ตัวโบกี้รถไฟผ่านไปได้พอดี ๆ แบบน่าหวาดเสียว

“เล็บขบเนี่ยมันเป็นอาการที่แปลกนะ โดยปกติ ทุกอวัยวะในร่างกายเรามักจะทำงานสอดคล้องกันอยู่เสมอ แต่เล็บกับเนื้อดันชอบมาทะเลาะกัน จึงทำให้เกิดอาการเล็บขบ เล็บก็เปรียบเสมือนรถไฟ ซึ่งจะขึ้นเป็นแนวตรง แต่เนื้อเปรียบเสมือนพ่อค้าแม่ค้าในตลาดร่มหุบที่เค้าจะขายของบนทางรถไฟ พอรถไฟมา เค้าก็จะลุกขึ้นหลบรถไฟ ซึ่งร่มร้านค้าในตลาดนี่คุณนึกภาพออกนะว่ามันก็มีขนาดใหญ่พอสมควร การหุบเพื่อหลบรถไฟคงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าแม่ค้าขายของบนรางรถไฟ ถ้ามีคนขายของอยู่ตรงนั้นเยอะ การหุบร่มคงเป็นการลดพื้นที่ เพื่อที่จะหลบรถไฟ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อตลาดร่มหุบ…”

คุณหมอไม่เล่าเปล่า แต่เดินบนพื้นเป็นเส้นตรงให้เห็นด้วย แสดงสัญลักษณ์การวิ่งตรงของรถไฟซึ่งเหมือนการงอกของเล็บ

“อาการเล็บขบมันเกิดจากการที่เล็บหรือรถไฟ วิ่งไปชนกับเนื้อ ซึ่งเปรียบเสมือนของขายที่แม่ค้าเก็บไม่หมด แล้วอย่างนี้ใครผิด เล็บหรือรถไฟมันก็ขึ้นหรือวิ่งตรงตามทางของมันอยู่แล้ว ส่วนเนื้อ หรือข้าวของของแม่ค้า เป็นตัวไปขวางมันไม่ใช่หรือ สรุปว่าเนื้อผิดครับ…”

แต่คุณหมอก็ได้ขยายความต่อครับว่าเนื้อผิดแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

“แต่คนที่ผิดที่สุดนั้นคือคนที่ตัดเล็บแบบผิดวิธีครับ…”

นั่นก็คือตัวผมเองครับ !

คุณหมออธิบายต่อครับว่าอาการเล็บขบเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากสุดคือ การตัดเล็บที่ผิดวิธี การตัดเล็บที่ลึกเกินไป ผมเข้าใจคุณหมอเลยครับ เพราะตัวเองเป็นคนที่ตัดเล็บลึกมากจริง ๆ ต้องแหวกเนื้อเข้าไปตัดให้ลึกที่สุด เหตุผลก็ง่าย ๆ ครับ มันสะใจดี ฮ่า ๆ ซึ่งมันผิดหลัก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เล็บขบ เพราะเมื่อตัดเล็บให้ลึก โดยที่ไม่ตะไบเล็บให้ดี และไม่ตัดให้เกลี้ยงนั้น จะทำให้หลงเหลือส่วนที่แหลมของเล็บอยู่ พอเล็บเริ่มยาวขึ้น ส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งคุณหมอเรียกว่า ‘หนามเล็บ’ ก็จะแทงเข้าไปที่เนื้อเรา ทำให้เกิดอาการเจ็บ และบวมแดงขึ้น

วิธีการแก้ก็คือ ต้องไปจัดการที่ต้นตอของมัน นั่นก็คือการไปตัด ‘หนามเล็บ’ ทิ้งนั่นเอง

ผมรับยาชาไป 3 จุด คุณหมอจัดการแหวกเนื้อเข้าไปตัดหนามเล็บทิ้ง ต้นตอของหนามเล็บนั้นใหญ่เอาเรื่องทีเดียว หลังจากที่จัดการกับต้นตอของปัญหาได้ คุณหมอก็บอกให้ทำแผลด้วยตัวเองทุกวัน และห้ามให้แผลโดนน้ำเป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยให้ถ่ายรูปแผลให้ดูผ่านไลน์ทุกวัน ไม่ต้องไปคลินิก

และมีนัดหมายในอีก 1 เดือนข้างหน้า เพื่อที่คุณหมอจะใส่ ‘กันชน’ ข้างเล็บให้

จริง ๆ คุณหมอมีศัพท์เฉพาะทางอยู่ครับ แต่ผมไม่แน่ใจ จึงขอเรียกว่า ‘กันชน’ ละกัน โดยคุณหมออธิบายว่ามันจะคล้ายแท่งพลาสติกเล็ก ๆ ที่จะกันไม่ให้เนื้อไปชนกับเล็บในระยะเวลาหนึ่ง ใช้เวลาพอที่จะให้เล็บขึ้นตรงโดยที่ไม่ไปชนกับเนื้อ ถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา

โดยคุณหมอได้เรียกเจ้า ‘กันชน’ นี้ในเรื่องราวของ ‘ตลาดร่มหุบ’ เอาไว้ว่า ‘การ์ดรถไฟ’ ครับ !

คุณหมอได้เปรียบเทียบเรื่องราวเอาไว้ได้เข้าใจง่าย และสนุกดีทีเดียว นึกแบบขำๆ ว่า ถ้าคุณหมอมาเข้าร่วมโครงการประกวดเล่านิทานสำหรับเด็กที่คุณแม่ผมเคยร่วมจัดต่อเนื่องมานับสิบปีล่ะก็ คงต้องติด 1 ใน 3 อันดับเป็นแน่

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเรื่องราวนี้คือ หนึ่ง ผมเพิ่งรู้ว่ามีหมอหรือคลินิกที่ดูแลรักษาเรื่องเท้าโดยเฉพาะ สอง อ๋อ Telemedicine มันเป็นอย่างนี้นี่เอง และสาม คือการได้รู้ว่าเล็บขบที่เหมือนเรื่องเล็ก ๆ เนี่ยจริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องใหญ่เอาเรื่องเหมือนกัน จากแค่การตัดเล็บผิดวิธี ถ้าเกิดกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน อาจจะถึงต้องตัดนิ้วหรือตัดขาเลยก็เป็นได้

ก็ฝากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่านดูแลสุขภาพกาย ใจ และ ‘teen’ กันด้วยนะครับ

สำหรับผม แม้จะเจ็บแต่เมื่อแลกกับการได้เปิดโลกความรับรู้เรื่อง ‘teen’ ก็ถือว่าสนุกดีเหมือนกัน

แต่คงต้องอาบน้ำขาเดียวไปแบบนกกระยางอีกสักพักเลย ฮ่า ๆ ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น