xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค แจงแนวทางการบริหารจัดการวัคซีน “ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ และ แอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ พร้อมดำเนินการส่งมอบวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามที่ ศบค. กำหนด เน้นฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า-ผู้สูงอายุ-กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง” ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งแผนการบริหารจัดการวัคซีนอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด-19

วันนี้ (11 ก.ค.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับแจ้งข่าวการบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส และได้รับบริจาควัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว จำนวน 1.05 ล้านโดส เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค เตรียมดำเนินการกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปยังพื้นที่เป้าหมายตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด คือ พื้นที่ที่มีการระบาด และพื้นที่ที่เปิดให้ท่องเที่ยว โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะบริหารจัดการผ่านโรงพยาบาล ในพื้นที่ และกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ประสานหลักในการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติ

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส จะฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 (Booster Dose จำนวน 1 เข็ม) 2. ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง 4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต โดยจะฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ยกเว้นกรณีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า Booster Dose 1 เข็ม ทั้งนี้ การจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เข็ม 3 จะมีการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. 64 นี้

ส่วนแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1.05 ล้านโดส นั้น จะฉีดให้กับ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 2. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง 3. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการบริหารจัดการวัคซีนอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด 19 ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักเพื่อลดความสับสน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือบุตรหลาน พาผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรังไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตในสถานการณ์ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย รวมถึงให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ลดกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่จำเป็น เมื่อกลับถึงบ้านต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


กำลังโหลดความคิดเห็น